รู้จักชนิดของDiscovery learning
สมาชิกเลขที่6035 | 17 ก.ค. 53
3.5K views

 

คราวที่แล้วผมทิ้งท้ายจะนำเรื่องชนิดของการเรียนรู้แบบdiscovery Learningมาเล่าให้ฟัง เพราะการเรียนรู้แบบนี้ถือได้ว่าเป็นของแปลกใหม่ที่ไม่มีใครนำมาใช้ในบ้านเรา จึงไม่คุ้นเคยกับกระบวนการของDiscovery Learning

อย่างที่ผมเล่าในตอนก่อนๆแล้วว่าการเรียนการสอนให้ผู้เรียนค้นพบคำตอบด้วยตนเองมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะหาคำตอบด้วยตนเองมากกว่าที่คุณครูหรือแม้แต่ผู้สอนจะสอนแบบให้คำตอบทันทีหรือบอกคำตอบตั้งแต่ต้น ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่เกิดแรงกระตุ้นที่อยากจะหาความรู้หรือคำตอบด้วยตนเอง

อาจมีข้อสงสัยว่าแล้วการบอกหรือไม่บอกคำตอบให้ผู้เรียนเลยจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นวิธีการเรียนแบบDiscovery Learning

Biggs นักการศึกษาคนหนึ่งที่ได้นำแนวคิดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนค้นพบคำตอบด้วยตนเองของBrunerมาต่อยอดและสรุปรูปแบบการเรียนการสอนแบบDiscovery Learningไว้น่าสนใจได้ 5 ชนิดดังนี้

1.เป็นการค้นพบคำตอบด้วยความบังเอิญ เป็นวิธีการสอนที่ผู้สอนไม่ต้องชี้แนะเลย ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้เรียนจะเป็นผู้ค้นพบคำตอบด้วยตนเองโดยบังเอิญ อย่างที่เราเห็นนักวิทยาศาสตร์ในอดีตหลายคนเช่นเซอร์ ไอแซค นิวตัน นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ได้พบกฎของแรงดึงดูดของโลก หรืออาร์คีเมดีส อาบน้ำอยู่ก็พบเรื่องความถ่วงจำเพาะ อะไรทำนองนี้

 

 

2.เป็นการเรียนรู้แล้วพบคำตอบโดยมีปัจจัยที่ถูกจัดเตรียมไว้เป็นการสอน โดยคุณครูหรือผู้สอนใช้อุปกรณ์ที่กำหนด จากนั้นก็ให้เด็กเอาปัจจัยที่เตรียมไว้ให้เด็กๆลองทำหรือปฏิบัติดูก็จะพบคำตอบได้ อย่างเช่นการใช้เลนส์เผากระดาษ คุณครูเตรียมกระดาษ เตรียมเลนส์แล้วให้เด็กๆลองรับใช้เลนส์รับแสงอาทิตย์ไปบนกระดาษ เด็กๆจะเห็นการรวมแสงและนำไปสู่การเผาไหม้

 

 

3.การค้นพบคำตอบด้วยวิธีการแนะแนวทาง เป็นการสอนที่ผู้สอนจะเตรียมคำถามไว้ถามเริ่มต้น บางทีก็ใช้อุปกรณ์การสอนด้วยลักษณะของคำถามนำแล้วเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิด เช่นจะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกนี้ไม่มีพระจันทร์ เด็กๆจะถูกท้าทายและหาคำตอบ

 

 

4.การพบคำตอบโดยการแนะนำ เป็นการสอนที่ผู้สอนจะชี้แนะแนวทางการค้นพบสิง่ที่ต้องการโดยตลอดด้วยการใช้คำถาม

 

 

5.เป็นการพบคำตอบโดยโปรแกรม เป็นการสอนที่ใช้บทเรียนโปรแกรมโดยใช้บัตรงานที่จะให้ผู้เรียนปฏิบัติตามขั้นตอน

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามก็มีผู้เห็นว่าการเรียนแบบDiscovery Learningมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์มาตั้งแต่เกิดคือมนุษย์จะมีนิสัยสงสัย อยากรู้อยากเห็น อยากหาคำตอบอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่คุณครูหรือผู้สอนจะมีเทคนิคกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากหาคำตอบด้วยตนเอง คุณครูอาจจะบอกคำตอบแล้วให้เด็กย้อนไปหาที่มาของคำตอบหรือไม่บอกคำตอบแต่หาองค์ประกอบในการให้ผู้เรียนอยากหาคำตอบ

สังเกตได้ว่าการเรียนแบบนี้ การตั้งคำถามเป็นเรื่องมีความสำคัญ การสร้างบรรยากาศสงสัย อยากรู้อยากหาคำตอบเป็นสิ่งที่ผู้สอนต้องพยายามรักษาและนำทางให้เด็กๆไปสู่เป้าหมายของการหาคำตอบ ผิดถูกอย่างไร ครูหรือผู้สอนอย่าเพิ่งใจร้อนเร่งสรุปคำตอบ คุณครูต้องให้โอกาส ให้เวลาเด็กๆ

ซึ่งอาจจะยากสำหรับเมืองไทยเพราะเราเคยชินกับการบอกคำตอบหรือให้ความรู้เด็กๆมากกว่าที่จะใจเย็นให้นักเรียนหาคำตอบด้วยตนเอง

 คราวหน้าผมจะนำจุด่อน จุดแข็งการเรียนแบบDiscovery Learningมาเล่าสู่กันฟังเพื่อจะได้รู้ว่าถ้าจะนำแนวการเรียนรู้แบบDiscovery Learningมาใช้ต้องระวังในเรื่องอะไรบ้าง

 

 

Share this