แชมป์หุ่นยนต์ปลูกต้นไม้ - ฉลาดคิด
สมาชิกเลขที่45049 | 19 พ.ค. 55
564 views

 

การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ภายใต้หัวข้อรักธรรมชาติที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จัดขึ้นเป็นประจำติดต่อกันมาถึงครั้งที่ 5 แล้ว ในที่สุดประเทศไทยก็ได้ตัวแทนเยาวชนไปแข่งขันในระดับนานาชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยปีนี้ได้มีการกำหนดหัวข้อ การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 (Robot Design Contest 2012) หรือ “RDC 2012” คือ “Reactions to Climate Change”
ที่สะท้อนปัญหาอันเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก และการมี
ส่วนร่วมของมนุษย์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

แต่ละทีมต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ให้ตระหนักปัญหาดังกล่าว

โจทย์ก็คือ ต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ให้ปลูกต้นไม้ให้ได้ หุ่นยนต์ต้องสร้างจากวัสดุที่คณะกรรมการกำหนดมา ในวงเงินสร้างหุ่นยนต์ทีมละ 600 บาท เท่านั้น

ปีนี้มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขัน จำนวน 20 ทีม จาก 24 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

ในที่สุดเจ้า ของตำแหน่งแชมป์ ตกเป็นของทีม “ซี เลเวล” (Sea Level) หลังจากได้แข่งขันรอบสุดท้ายเสร็จสิ้นกันไปแล้ว ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า (ประตูน้ำ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่ง ขัน RDC 2012 กล่าวว่า นี่คือเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถ และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในการออกแบบสร้างสรรค์หุ่นยนต์ โดยเฉพาะ ปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ได้นำหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ หรือ Mobile Robot Platform มาเป็นตัวช่วยเสริมในเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับหุ่นยนต์ เพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคตสำหรับการทำงานในวิชาชีพวิศวกรต่อไป

ทั้งนี้ ทีม “Sea Level” ประกอบด้วย น.ส.สาธิมา ประเสริฐเจริญสุข นักศึกษาปี 2 จาก มหาวิทยาลัยมหิดล นายอุหมาด หีมโป๊ะหมอ ปี 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ นายกานต์ไกร จิตรหมั่น ปี 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายอภิวิชญ์ พวงศรีเจริญ ชั้นปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายบรรณวิชญ์ ติยะบวรวงศ์ ชั้นปี 1 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

น.ส.สาธิมา ประเสริฐเจริญสุข ตัวแทนทีมซี เลเวล บอกว่า จุดเด่นของทีมที่ทำให้ชนะเลิศ มาจากการวางแผนที่ดี สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้แม่นยำและมั่นคง ทีมช่วยกันคิดวิธีการแก้เกมของทีมคู่ต่อสู้ว่า ถ้าเขามาอย่างนี้เราจะตอบโต้อย่างไร

ส่วนการเตรียมตัวเพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนของประเทศไปแข่งขันในระดับนานาชาติในเดือนสิงหาคมนี้ ก็จะเน้นเรื่องภาษาเป็นหลัก เพราะต้องไปทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ จากประเทศอื่น ๆ อยากเชิญชวนให้เยาวชนที่สนใจเรื่องการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์มาสมัครเข้าร่วมแข่งขันในปีหน้า เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แล้ว ยังได้พบเจอเพื่อนใหม่ ๆ อีกมากมาย

ทีม “ซี เลเวล” (Sea Level) จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ “IDC RoBoCon 2012 ที่ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2555 นี้

Share this