เศรษฐกิจ ของประเทศจีนในปัจจุบันเติบโตขึ้น จนเป็นที่จับตาจากนานาประเทศ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า จีนจะสามารถขยายอิทธิพลเทียบเท่าสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่
การเติบโตของประเทศจีนนี้ ส่งผลต่อวงการการศึกษาภาษาต่างประเทศในประเทศไทยไม่น้อย เพราะทำให้ผู้คนต่างหันมาสนใจเรียนภาษาจีนมากขึ้น โรงเรียนมีทั้งการเปลี่ยนและ/หรือเพิ่มหลักสูตรภาษาต่างประเทศภาษาที่สามมาเป็นภาษาจีน
ส่วนโรงเรียนสอนภาษาก็ต่างโหมโฆษณา การเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม บางรายถึงกับกล่าวเชิญชวนให้มาเรียนภาษาจีน เพราะภาษาจีนจะเป็นภาษาโลกต่อไป โดยให้เหตุผลเรื่องอิทธิพลของประเทศจีนและจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก
อย่าง ไรก็ดี คงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าในปัจจุบันภาษาอังกฤษคือภาษาโลก หากเป็นเช่นนี้แล้วปัจจัยใดเล่าที่จะทำให้ภาษาจีนมาแทนที่ภาษาอังกฤษได้
สำหรับผู้เขียนแล้ว เหตุผลเรื่องความยิ่งใหญ่และจำนวนประชากรของประเทศจีน คงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาษาจีนมาแทนภาษาอังกฤษ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนต่อต้าน การเรียนภาษาจีนแต่อย่างใด เพราะการเรียนไม่ว่าสิ่งใดก็ตามเป็นประโยชน์เสมอ
ก่อนอื่นเรามาพิจารณากันว่าภาษาอังกฤษ เป็นภาษาโลกได้อย่างไร เพื่อเปรียบเทียบความเป็นไปได้ ในการเป็นภาษาโลกของภาษาจีน ภาษาอังกฤษเป็นภาษาโลกได้ด้วยปัจจัยกว้างๆ สองประการคือ การล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
นักวิชาการต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจัยสำคัญที่คนจะเลือกใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง เป็นภาษาหลักร่วมกันคือ การเลือกภาษาของผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุด ไม่ใช่การเลือกภาษาที่มีคนพูดมากที่สุด
กล่าวคือ กระบวนการประชาธิปไตยไม่มีผลต่อการเลือกภาษา ผู้น้อยต้องการติดต่อหวังพึ่งพิงผู้หลักผู้ใหญ่ก็ต้องหัดพูดภาษาของเขา
นี่คือกระบวนการคัดเลือกภาษากลาง เช่น การคัดเลือกภาษามาตรฐานของประเทศไทยให้เป็นภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเพราะมีผู้พูดสำเนียงกรุงเทพฯ มากที่สุด (คนกรุงเทพฯ แท้ๆ มีจำนวนมากสู้คนอีสานไม่ได้) แต่เป็นเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศ
กลุ่มผู้ปกครองบ้านเมืองพูดภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ ทุกคนจึงเข้าใจร่วมกันว่าควรใช้ภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของภาษาจีน จะพบว่าข้ออ้างที่ว่า คนจีนมีจำนวนมากจะทำให้ภาษาจีนเป็นภาษาโลกต่อไป ถือเป็นปัจจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และหากพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว แม้ผู้ที่พูดและผู้ที่รู้ภาษาจีนจะมีจำนวนมาก
แต่ผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษ หากรวมเจ้าของภาษา อันประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
และผู้ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองในประเทศที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เช่น อินเดีย หรือสิงคโปร์ รวมไปถึงผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย และประเทศต่างๆ ทั่วโลก
โดยนับทั้งคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีและคนที่พอจะสื่อสารได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ แล้ว เชื่อได้ว่าผู้ที่ "รู้" ภาษาอังกฤษนั้นมีมากกว่าผู้ที่ "รู้" ภาษาจีน แน่นอน
กล่าวถึงปัจจัยต่อมาที่ถูกอ้างว่า น่าจะทำให้ภาษาจีนกลายเป็นภาษาโลกได้คือ อิทธิพลของประเทศจีนในปัจจุบัน
อิทธิพลที่ว่านี้น่าจะเป็นอิทธิพลทางเศรษฐกิจ มากกว่าแสนยานุภาพทางการทหาร ประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากย่อมกระตุ้นความต้องการติดต่อค้าขาย และส่งผลให้ประเทศต่างๆ พยายามผลิตบุคลากรที่พูดภาษาของประเทศนั้นได้เพิ่มขึ้น คงไม่มีคนมากนักที่สนใจเรียนภาษาใดๆ เพิ่มเติมเพียงเพราะรู้ข่าวการยิงทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์
แล้วประเทศใดที่ถือว่ามีอิทธิพล ทางด้านเศรษฐกิจสูงสุดในปัจจุบัน แม้ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จะไม่สู้ดีนัก แต่เราก็ยังต้องยอมรับความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอยู่ดี และหากจะมองไปในอนาคต เศรษฐกิจจีนจะก้าวข้ามอเมริกาไปได้หรือไม่
สำหรับผู้เขียนแล้ว เชื่อว่าในอนาคต การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะเป็นการสร้างอิทธิพลที่จะยิ่งใหญ่เหนือเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว และภาษาที่กลุ่มทางเศรษฐกิจเหล่านี้เลือกใช้สื่อสารกันก็คือภาษาอังกฤษนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีประเทศที่พูดภาษาอังกฤษรวมอยู่ด้วย เช่น กลุ่ม G20 หรือแม้แต่กลุ่มที่ไม่มีประเทศที่พูดภาษาอังกฤษรวมอยู่ด้วย เช่น ประชาคมอาเซียน (AEC) หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ภาษาบาฮาซาเป็นภาษาราชการ ภาษาราชการร่วม หรือมีกลุ่มชนที่พูดภาษาดังกล่าวอยู่
จึงกล่าวได้ ว่าภาษาบาฮาซามีผู้พูดเป็นจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เพื่อเตรียมตัวสำหรับประชาคมอาเซียน ดูเหมือนทุกประเทศ ก็จะเข้าใจร่วมกันว่าเราต้องเลือกภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางอันดับหนึ่งในการสื่อสาร
การตัดสินใจเลือกภาษากลางเป็นภาษาอังกฤษของกลุ่มต่างๆ ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะยิ่งทำให้การใช้ภาษาอังกฤษ ได้ขยายตัวไปมากยิ่งขึ้น และมีผู้คนเลือกใช้จนถึงจุดที่เราเรียกได้ว่าจุดอิ่มตัว (critical mass) แล้ว กล่าวคือ เมื่อผู้คนต้องสื่อสารกับคนต่างชาติต่างเลือกใช้ภาษาอังกฤษไปโดยปริยาย มากกว่าจะมานั่งสอบถามกันก่อนว่าพูดภาษาอะไรได้บ้าง
ณ จุดนี้ การเสื่อมสลายของภาษาอังกฤษ ในฐานะภาษาโลกจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และดูเหมือนการเข้ามาเทียบเท่าของภาษาจีนจะเป็นหนทางอีกยาวไกล
อย่างไรก็ดี การเรียนภาษาจีนก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะถ้าหากเรารู้ภาษาจีนเราก็สามารถติดต่อกับจีน รวมถึงไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่มีหนทางการทำธุรกิจที่แจ่มใส
ในมุมมองทั่วๆ ไป การเรียนภาษาจีน จึงมีประโยชน์เทียบเท่ากับการเรียนภาษาของประเทศมหาอำนาจต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เพียงแต่ว่าการเลือกเรียนภาษาต่างประเทศ เราจำเป็นต้องพิจารณาบริบทในประเทศของตนเองด้วย
เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศทวีปเอเชีย บริษัทต่างๆ ในไทย รวมถึงการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ จึงมักจะเป็นประเทศในแถบเอเชียมากกว่ายุโรป
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โอกาสทางธุรกิจของผู้รู้ภาษาจีน หรือญี่ปุ่นในประเทศไทย ย่อมมีหลากหลายกว่าผู้รู้ภาษาของประเทศแถบยุโรป
จาก การอภิปรายทั้งหมดข้างต้น การเรียนภาษาของเด็กไทยในปัจจุบันควรจะเป็นเช่นไร เด็กไทยไม่ควรละทิ้งการเรียนภาษาไทย เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพในการคิดและสื่อสารให้ชัดเจน
มีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดีในการปฏิบัติงานต่างๆ รวมถึงการพัฒนาคนในชาติไปพร้อมๆ กัน สำหรับภาษาต่างประเทศที่ทุกคนต่างยอมรับว่าเราจะต้องเรียนก็คือ ภาษาอังกฤษ เพราะจะทำให้เราสื่อสารได้กับทุกคน
ทั้งประเทศมหาอำนาจต่างๆ รวมถึงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเรา แต่อย่างไรก็ดี สำหรับการติดต่อธุรกิจกับประเทศใดประเทศหนึ่งการศึกษาภาษาของประเทศนั้นๆ ให้ได้ดูจะมีภาษีมากกว่าการพูดแต่ภาษาอังกฤษ
เพราะการศึกษาภาษาก็จะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กันด้วย ถ้าพูดกันเข้าใจมากขึ้น ก็คงช่วยส่งเสริมธุรกิจให้ไปได้ดียิ่งขึ้น ภาษาที่สามจึงถือเป็นอาวุธลับที่ควรมีไว้
สรุปแล้ว ภาษาจีนคงจะเป็นภาษาโลกแทนภาษาอังกฤษไม่ได้ ด้วยอิทธิพลของจีนยังไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่ากลุ่มประเทศ ที่พูดภาษาอังกฤษ แต่การเลือกเรียนภาษาจีนสำหรับเด็กไทยในปัจจุบัน เป็นภาษาที่สามก็ดูเหมือนจะทำให้อนาคตสดใสไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจของพี่ใหญ่ในเอเชียอย่างจีน
ขอบคุณ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
มติชนออนไลน์
คุณสุพิชญา มั่นคง