พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
สมาชิกเลขที่107717 | 05 พ.ค. 55
1.6K views

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา  ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุ วัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา"

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2504 และที่นี่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสง สี มาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ

สิ่งสำคัญที่น่าชมภายในพิพิธภัณฑ์ ได้แก่

บริเวณพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นอาคารจัดแสดง 3 อาคาร คือ

อาคาร 1

ชั้นล่าง จัด แสดงโบราณศิลปะวัตถุที่ค้นพบจากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระ นครศรีอยุธยา ระหว่างพ.ศ. 2499-–2500 ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา พระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดงได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวาราวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง 6 องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย 5 องค์และในประเทศอินโดนีเซีย 1 องค์ ในประเทศไทยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม 2 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร 1 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา 1 องค์และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์ เศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทองทำด้วยสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมมิกรา ช แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีเครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างสมัยอยุธยา

ชั้นบน จัดแสดงเครื่องทอง 2 ห้อง ห้องแรก จัดแสดงเครี่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อ พ.ศ 2500 โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ องค์พระแสงขรรค์ทำด้วยเหล็กมีคมทั้ง 2 ด้าน ฝักทำด้วยทองคำจำหลักลายประจำยาม ลายกนกประดับอัญมณี ด้ามทำด้วยหินเขี้ยวหนุมาน ห้องที่สอง จัดแสดงเครื่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในผอบทองคำ ส่วนที่รอบเฉลียง จัดแสดงพระพิมพ์ที่ทำด้วยชิน(โลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก; บุทองแดง)และดินเผา สมัยสุโขทัย ลพบุรี และสมัยอยุธยาที่ค้นพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุและวัดพระราม

อาคาร 2

จัด แสดงโบราณศิลปะวัตถุที่พบในประเทศไทยตามลำดับอายุสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-24 คือ ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยาและรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง เช่น พระพุทธรูปปางต่างๆ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระคเณศ

อาคาร 3

เป็น เรือนไทยที่สร้างเป็นหมู่เรือนไทยภาคกลางปลูกอยู่กลางคูน้ำ ภายในเรือนไทยจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสมัยก่อน เช่น หม้อดินเผา กระต่ายขูดมะพร้าวและเครื่องจักสานต่างๆ

โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษา

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ปิดวันจันทร์และวันอังคาร

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
องค์ การยูเนสโก้ประกาศให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นมรดกโลก และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดงานมรดกโลกและทรงเจิมสัญลักษณ์มรดก โลก เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ณ วิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อัตราค่าเข้าชม

ชาว ไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 60 บาท ชาวต่างประเทศ 180 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (035) 241-587

ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ 2 ไฟแดง ไปอีกไม่ไกลนักจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ

Share this