เป็นอย่างไรครับ เมื่อตอนที่แล้วผมเปิดประเด็นไว้ว่าการเรียนรู้แบบDiscovery Learningเป็นการเรียนรู้ที่เป็นทางเลือกที่วงการศึกษาบ้านเราน่าจะเรียนรู้ ศึกษาและนำมาปรับใช้เพื่อรับกับการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการคิดการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบหาความรู้ด้วยตัวของเด็กเอง
จากนี้ไปผมจะลงรายละเอียดในเรื่องของหลักการ กระบวนการ รูปแบบของการเรียนรู้แบบผู้เรียนค้นพบคำตอบด้วยตนเองให้ท่นที่สนใจ
จากการที่แนวคิดDiscovery Leraningถูกพัฒนาเมื่อ40กว่าปีที่ผ่านมาและพัฒนามาเรื่อยๆจะพบว่าหลักการสำคัญของการเรียนรู้แบบนี้พอจะสรุปได้ดังนี้
1.การนำแนวคิดนี้ไปใช้ครูหรือพ่อแม่ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการเรียนรู้ไม่ใช่จะมุ่งให้คำตอบหรือความรู้ทันที ครูหรือพ่อแม่จะต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆหรือผู้เรียนเกิดความสงสัยใคร่รู้ เกิดคำถาม เกิดแรงบันดาลใจที่จะหาคำตอบในสิ่งที่เด็กๆกำลังเรียนรู้อย่างเต็มที่และระหว่างทางที่เด็กจะไปหาคำตอบ ครูและพ่อแม่ต้องเปิดโอกาสทั้งเวลา บรรยากาศ การมีส่วนลงมือปฏิบัติ การใช้ทักษะต่างๆที่มีอยู่ในตัวเด็ก ปัจจัยเหล่านี้คือกระบวนการที่ครูหรือพ่อแม่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา อย่าเพิ่งรีบสรุปหรือมำคำตอบให้เด็ก
2.การจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนค้นพบคำตอบด้วยตนเอง ครูและพ่อแม่ต้องพิจารณาโครงสร้างเนื้อหาสาระว่าเด็กๆควรจะมีโอกาสค้นหาคำตอบในเรื่องอะไร อย่างไร การเรียนรู้ควรมีสุมมติฐานการเรียนรู้หรือเกิดแรงบันดาลใจที่จะแสวงหาคำตอบอย่างต่อเนื่องจากคำตอบหรือความรู้หนึ่งเด็กๆยังสามารถหาคำตอบหรือความรู้ต่อไปได้อีกไม่จบสิ้น
3.การจัดการเรียนการสอนแบบDiscoveryจะเป็นลักษณะคล้ายเกลียวไม่ใช่แบบวงกลม เพราะคำตอบหรือความรู้มีไม่รู้จบเด็กๆสามารถที่จะหาความรู้หรือคำตอบไปได้ ในหลายมิติ ถ้าตามหลักสูตรไทยก็สามารถจะหาความรู้หรือคำตอบได้ทั้ง 8สาระจากเรื่องเดียวกัน เช่นเทียนทำมาจากอะไร(วิทยาศาสตร์) ทำไมเรียกเทียน(ภาษา) เทียนมีมานานแค่ไหน(ประวัติศาสตร์) เทียนต้องเป็นแท่งไหม(วิทยาศาสตร์) แต่ละชาติเรียกเทียนว่าอะไร(ภาษา) เทียนแต่ละชิ้นหนักเท่าไหร่ (คณิตศาสตร์)เทียนในความหมายทางศานาคืออะไร (สังคม)การทำเทียนทำอย่างไร(การงานอาชีพ) เป็นต้น
4.การเรียนรู้แบบนี้ครู พ่อแม่ต้องให้อิสระทางความคิด ความสนใจของผู้เรียนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนคิด สงสัย เกิดแรงบันดาลใจในการแสวงหาคำตอบ การเรียนรู้แบบนี้ครู พ่อแม่ต้องไม่ปิดกั้น ตีกรอบหรือห้ามเด็กๆ ให้เด็กๆตื่นตัว ตื่นเต้นกับการคิด กับความสงสัยของพวกเขาอย่างเต็มที่
5.ครู พ่อแม่ต้องสนับสนุน กระตุ้น ส่งเสริมให้เด็กๆเกิดแรงจูงใจ อย่างต่อเนื่องที่จะกระตือรือร้นเพื่อหาคำตอบด้วยตนเอง แม้จะเจอปัญหา อุปสรรค แต่ให้เด็กๆเห็นว่าทุกอย่างมีคำตอบหรือความรู้ที่จะค้นพบได้
6.การเรียนรู้แบบนี้ ครู พ่อแม่จะต้องปลูกฝังและให้เด็กๆฝึกฝนทักษะให้มากทักษะการตั้งคำถาม ทักษะจากร่างกายทั้งสังเกต สัมผัส สำรวจ สืบค้น สั่งสมและที่สำคัญคือการรู้จักสรุปความคิดรวบยอดให้เป็นจนคุ้นเคย ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นจุดอ่อนของการศึกษาบ้านเรา
เป็นอย่างไรครับ อ่านแล้วคิดว่าหลักการเหล่านี้ไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับและทุกคนน่าจะทำได้ ซึ่งแต่ละอันเป็นหลักการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างยิ่ง เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และนำพาให้เด็กรู้จักคิด เป็นคนหาคำตอบด้วยตัวเอง แล้วตอนหน้าผมจะลงไปที่กระบวนการเรียนการสอนเราจะไปดูบทบาทของครูและผู้เรียนกันว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง