“คนมีจิตเกลี้ยง อยู่ที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นเป็นสวนโมกข์”
สวนโมกขพลาราม หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สวนโมกข์” ธรรมสถานอันเป็นที่รู้จักของผู้คนหลากเชื้อชาติ หลายภาษา หรือแม้กระทั่งต่างศาสนาทั่วโลก จากวิถีการอบรมสั่งสอนที่เป็นเอกลักษณ์ โดยพระอริยสงฆ์ผู้มีปฏิปทางดงาม มีแนวทางและแนวคิดเฉพาะตน ในการเผยแผ่หลักพระธรรมคำสอนให้พุทธศาสนิกชนรู้จักการไม่ยึดติด ละวางความถือมั่นในตัวตน สร้างคุณประโยชน์เป็นธรรมทานแก่เพื่อนร่วมโลก
ภิกษุผู้มีสมณศักดิ์ว่า “พระธรรมโกศาจารย์” ซึ่งขนานนามให้ตนเองไว้ว่า “พุทธทาสภิกขุ” นาม “พุทธทาส” นี้ เกิดจากการปฏิญาณตนของท่านเมื่อวัย ๒๖ ปี ที่จะมุ่งมั่นรับใช้พระพุทธศาสนา โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นนายสูงสุด แม้ว่าท่านพุทธทาสได้ล่วงลับไปนานแล้ว แต่สาระสำคัญของแนวทางในการฝึกหัด ปฏิบัติตน ยังคงปรากฏเป็นดอกผลแห่งปัญญาที่ท่านได้บ่มเพาะไว้ ให้สาธารณชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ โดยมี พระภาวนาโพธิคุณ หรือ พระอาจารย์โพธิ์ จนฺทสโร ผู้เป็นศิษย์ของท่านพุทธทาส ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบมา
ตลอดช่วงชีวิตของท่านพุทธทาส แสดงให้เห็นถึงวัตรปฏิปทาในด้านการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งถ่ายทอดสู่อนุชนผ่านสิ่งต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณของสวนโมกข์ แม้ท่านพุทธทาสจะละสังขารมากว่า ๒ ทศวรรษแล้ว แต่วิถีปฏิบัติและหลักคำสอนของท่านไม่เคยพ้นสมัย ยังคงเป็นแก่นธรรมที่สามารถยึดถือปฏิบัติได้ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม จวบจนปัจจุบัน เสียงของท่านพุทธทาส ยังคงก้องกังวานอยู่ทั่วอาณาบริเวณ เป็นเครื่องเตือนสติปลูกปัญญาแก่สาธุชนผู้มาเยือนเสมอมา
แนวคิดและหลักธรรมของท่านพุทธทาส ได้รับการตีพิมพ์มากมายหลายล้านเล่ม ทั้งได้รับการแปลมากกว่า ๑๕๐ ภาษา เผยแพร่พุทธธรรมไปทั่วทุกมุมโลกเป็นมรดกธรรม อันเป็นอริยทรัพย์สู่ปัญญาและสติในการดำรงชีวิต
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศยกย่องท่านพุทธทาส ให้เป็นบุคคลสำคัญของของโลกด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์ ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของท่าน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๙ ดอกผลแห่งวิถีธรรมที่ท่านได้หว่านไว้ ยังคงผลิดอกงอกงาม สร้างคุณประโยชน์นานัปการเป็นรูปธรรมเสมอมา
ด้วยเหตุนี้ โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี ๘ ซึ่งเดินทางมุ่งหน้าสู่ภาคใต้เป็นครั้งแรก จึงได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้และศึกษาธรรมะ ณ แดนใต้ ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของวัดธารน้ำไหล หรือโมกขพลาราม แห่งนี้
โดยได้รับความเมตตาจากพระภาวนาโพธิคุณ หรือพระอาจารย์โพธิ์ จนฺทสโร เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ในการเอื้อเฟื้อสถานที่ศึกษาพระธรรมคำสอน ตามแนวทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่ามกลางแง่คิดคำสอนที่ท่านพุทธทาสได้ถ่ายทอดไว้เป็นมรดกธรรมแก่ผู้มาเยือน
คงเป็นโอกาสในการเรียนรู้ครั้งสำคัญของตัวแทนยุวชนทั้ง ๑๒ คน ที่จะได้รับการอบรม ฝึกหัด ปฏิบัติ และขัดเกลากายใจ อย่างสอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของท่านพุทธทาส เพื่อปลูกฝังสติ เพิ่มพูนปัญญา บ่มเพาะคุณธรรมอันดีงามให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของเหล่าตัวแทนยุวชน ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความสงบเย็นสู่ผู้คนในสังคมต่อไป ดังโอวาทธรรมของท่านพุทธทาสที่ว่า “ศีลธรรมของยุวชน คือ สันติภาพของโลก”
เรียบเรียงโดย ทรูปลูกปัญญา
บทความโดย คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์