วัดเขาวง จังหวัดสระบุรี ที่แม้จะมีอาณาบริเวณวัดเพียง 1,500 ตารางเมตร แต่วัดแห่งนี้ก็ให้ความสำคัญในการใช้หลักธรรมเพื่อสอนสั่งให้ผู้มาเยือนได้รู้รักษาธรรมชาติแวดล้อมของวัด ห้ามมิให้ผู้ใดรุกล้ำทำลาย หรือถือเอาธรรมชาติเป็นสมบัติส่วนตัว เพราะธรรมชาติก็เปรียบเสมือนบ้านของพันธุ์ไม้ และสัตว์น้อยใหญ่ ไม่ต่างจากมนุษย์
นอกจากจะเป็นสถานที่แห่งธรรมท่ามกลางธรรมชาติแล้ว ภายในวัดเขาวงยังมีโบราณสถานสำคัญที่ย้ำเตือนให้ผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนได้ระลึกถึง ความมั่นคงแห่งพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดา ที่ยังคงอยู่จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน และมีอายุยาวนานมากว่า ๑,๓๐๐ ปี นั่นก็คือ “ถ้ำนารายณ์” ซึ่งในอดีต สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จจากเมืองลพบุรี เพื่อไปว่าราชการที่กรุงศรีอยุธยาคราใด ก็ ได้ทรงโปรดใช้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่ประทับพักแรมและปฏิบัติกรรมฐานอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเพราะสภาพแวดล้อมอันเย็นสบายและเงียบสงบ ท่ามกลางหุบเขาและพื้นที่ป่า
ซึ่งในเวลาต่อมา สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ก็ได้ทรงโปรดใช้ถ้ำนารายณ์เป็นที่ประทับพักแรม เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในทุกครั้งที่พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท
จากเส้นทางผ่านสัญจรเพื่อค้าขาย และติดต่อกันระหว่างเมืองในสมัยโบราณ ได้นำมาซึ่งการตั้งบ้านเรือน และชุมชนโดยรอบ จนทำให้บริเวณถ้ำนารายณ์ เทือกเขาวงกลายเป็นเส้นทางหลักที่ทำให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ได้เห็นถึงรอยธรรมแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนาระหว่างไทยกับศรีลังกา ดังอักขระจารึกที่ปรากฏให้เห็นบนผนังถ้ำ ซึ่งเผยให้เห็นรากฐานแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนแผ่นดินสระบุรี อันยาวนานนับพันปี
หลังจากผ่านความรุ่งเรือง เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ถ้ำนารายณ์ก็ได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง และได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ พร้อมทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัดเขาวง หรือถ้ำนารายณ์ เพื่อพัฒนาและรักษาไว้ให้เป็นมรดกและวัฒนธรรมศาสนา
ซึ่งปัจจุบันมีท่านพระครูภาวนาพิลาศ เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล ซึ่งในระยะแรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ทีท่านพระครูภาวนาพิลาส หรือที่ลูกศิษย์เรียกท่านว่าหลวงตา ได้อุปสมบทและมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดเขาวง วัดแห่งนี้อยู่ในสภาพอันรกร้าง ทรุดโทรม มีพระสงฆ์เพียงรูปเดียว จึงกลายเป็นเจตนารมย์อันมุ่งมั่น ที่ต้องการพัฒนา และทำนุบำรุง ศาสนสถานแห่งนี้ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง..
ซึ่งการบูรณะในครั้งนั้น ก็ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จนพัฒนามาจนถึงปัจุบัน ซึ่งสภาพแวดล้อมในวัดร่มรื่น สงบ เงียบ เหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน