ถ้าจะว่าไปตามเหตุผลแล้ว ในกรณีที่ถ้าเราเหงาและอยากมีใครสักคนคุยด้วย เมื่อมีใครสักคนเข้ามาคุยด้วยจริง ๆ ไม่ว่าจะในฐานะอะไร ใจเราก็คงจะฟูเป็นขนมถ้วยฟูใช่ไหมคะ ? ทีนี้ถ้าคุยกันไปแล้วเข้ากันไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ก็คงต้องโบกมือลา แต่ปัจจุบันนี้หลายคนกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะมีคนบางประเภทที่ก็เหงานะ บ่นว่าอยากมีแฟนทุกวัน แต่พอมีคนเข้ามาคุยด้วยสักพักก็รู้สึกรำคาญ ในขณะเดียวกันก็ยังไม่อยากเทเขา ยังอยากคุยต่อ อยากเดทกันต่อกลายเป็นความอึดอัดที่อธิบายไม่ถูก
โดยอาการหลัก ๆ คือขี้เกียจตอบแชทบ้าง หรือทุกครั้งที่เขาอยากพัฒนาความสัมพันธ์ไปอีกขั้น คุณก็อาจจะปล่อยเบลอ ทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่ค่อยบอกรักตอบ ไม่ค่อยบอกคิดถึงตอบ เมื่อเวลาเขาอยากจริงจัง คุณก็มักจะให้คำตอบที่ไม่ชัดเจน เช่น ชอบบอกว่าเอาไว้ก่อนนะ อาจจะ บางที ไม่ค่อยมั่นใจ ไม่ค่อยชอบสัญญาอะไรเป็นจริงเป็นจัง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไม่คืบหน้าหลังจากที่คุยหรือเดทกันมาสักพักหนึ่งเพราะแค่อยากคุยกันไปเรื่อย ๆ เวลาที่ต้องการ ไม่มีใครเป็นเจ้าของใครทั้งนั้น อย่ามาตามเช็กว่าฉันอยู่ไหน ทำอะไรอยู่กับใคร เพราะมันทำให้ฉันขนลุกสุด ๆ หรือที่เราอาจเรียกว่าเป็นอาการของคนที่กลัวการผูกมัดนั่นแหละ
สาเหตุของการกลัวการผูกมัดอาจจะมาจากการเคยมีประสบการณ์ความรักที่ไม่ดีในอดีต ศรัทธาเกี่ยวกับความรักได้เคยแตกสลายไปทำให้ไม่เชื่อในการใช้ชีวิตคู่ หรือว่าครอบครัวแยกทางกันทำให้มีปมในใจเกี่ยวกับทัศนคติในเรื่องการใช้ชีวิตคู่ หรือบางคนก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะมีความสามารถที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งในระยะยาวกับคนอื่นได้ หรือลึก ๆ แล้วไม่มั่นใจในตัวเองจึงทำให้พยายามหนีออกห่างจากความสัมพันธ์เมื่ออีกฝ่ายเริ่มอยากจะจริงจังขึ้นมาหรือที่เราเรียกว่า โรคกลัวการผูกมัด (Commitment phobia) แต่หลายคนอาจจะไม่ถึงกับเป็นโรคกลัวการผูกมัดขนาดนั้น
เพราะสำหรับคนที่เป็นโรคกลัวการผูกมัดจริง ๆ เขาจะมีปัญหาในการผูกมัด (Commitment) กับมนุษย์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนที่โรงเรียน คนที่ทำงานด้วย คนในครอบครัวตัวเอง ไม่ใช่แค่กับเรื่องความรักเท่านั้น คือเขาจะไม่มีเพื่อนสนิท ไม่สุงสิงกับมนุษย์คนไหนเลย อย่างไรก็ตามคนที่เป็นโรคกลัวการผูกมัดจริง ๆ จะไม่กลัวที่จะสานสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ คือเขาสามารถเลี้ยงหมา เลี้ยงแมวได้สบาย ๆ แต่จะกลัวเฉพาะเมื่อต้องสานสัมพันธ์หรือผูกมัดแค่กับคนเท่านั้น
ส่วนคนที่กลัวการผูกมัดแค่ในเรื่องความรัก แต่ไม่กลัวการผูกมัดกับเพื่อนฝูง ยังคงมีแก๊งเพื่อนสนิทก็อาจจะไม่ถึงกับเป็นโรคกลัวการผูกมัดและยังสามารถที่จะเริ่มความสัมพันธ์กับใครสักคนได้ เพียงแค่ต้องปรับตัวให้ชินเท่านั้น
พูดถึงความกังวลนี้กับเขา
บางทีการตั้งชื่อให้กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็เป็นการเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมนะคะ หากเรายังอยากคุยกับเขาต่อ ยังไม่อยากเทเขา แต่อีกใจเราก็กลัวและมีความกังวลเกิดขึ้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันเราต้องบอกเขาว่าเรารู้สึกกังวลโดยอาจพูดว่า ‘เราไม่เคยคบกับใครจริงจังเลย ทุกครั้งมันเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ตลอด เราชอบเธอนะ แล้วก็ชอบที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ แต่ว่าเราก็ขอเวลาเพื่อให้ตัวเองชินกับการคบใครจริง ๆ จัง ๆ สักพักหนึ่ง เธอจะโอเคไหม’ เพื่อให้อีกฝ่ายประเมินว่าเขาจะโอเคไหมที่จะคุยกับเราต่อ
เพิ่มความใกล้ชิดแต่ไม่ต้องผูกมัด
ก็คือเราจะยังไม่ต้องเป็นอะไรกันในตอนนี้ มี Intimacy สนิทสนมกันแต่ยังไม่ได้ Commitment ผูกมัดกันตอนนี้ เพราะ Intimacy และ Commitment ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ในตอนนี้เราจึงจะมีให้กันได้เพียงแค่ความรักโรแมนติกเหมือนคนจีบกันทั่ว ๆ ไป คือเราจะห่วงใยกัน รู้สึกใกล้ชิดผูกพันกัน ไปไหนไปด้วย มีพันธนาการทางใจต่อกัน แต่เราจะยังไม่ตกลงที่จะตัดสินใจอะไรทำร่วมกัน มีลูกกี่คน วางแผนอนาคตใช้ชีวิตด้วยกันในระยะยาว อันนี้ยังก่อน
ซ้อมที่จะผูกมัดกันทีละนิด
ในเมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าเราอยากจะไปต่อกับเขานี่แหละ แต่เราก็ยังกลัวการผูกมัดอยู่นะ มันก็มีทางแก้ที่จะทำให้ทั้งคู่ได้พัฒนาไปสู่การผูกมัดกันได้ นั่นก็คือการฝึกซ้อมที่จะลองผูกมัดกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ใช้เวลาวันหยุดด้วยกัน ไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน จับมือกันเวลาอยู่กับคนที่เรารู้จัก พูดเรื่องที่คุณชอบทำด้วยกันแล้วผลัดกันถามว่าทำไม พูดเรื่องสเปซที่ชอบ อนาคตอยากอยู่เมืองไหน อยากมีเพื่อนบ้านแบบไหน โดยหากมีความรู้สึกกลัวเกิดขึ้นระหว่างที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ก็ให้บอกเขาว่าเรารู้สึกยังไง
เคารพในขอบเขตของแต่ละคน
ขอบเขตเป็นเรื่องสำคัญมากหากเราทำอะไรแล้วรู้สึกไม่ดีให้บอกเขาทันทีเพื่อที่จะไม่ต้องรู้สึกถูกล้ำเส้น หากเราไม่ชอบที่เขาถามว่าเราอยู่ไหนทุกชั่วโมง เราก็ต้องบอกว่าเราไม่ชอบ หากเราไม่โอเคที่เขาอยากจะใช้เวลาตอนเย็นกับเรา เราก็ต้องบอกว่าขอเป็นกลางวันแทนได้ไหม บอกสิ่งที่ทำได้และไม่ได้ เข้าใจและเคารพในธรรมชาติของกันและกัน ส่วนคนที่จีบคนที่กลัวการผูกมัดก็อย่าลืมให้พลังงานบวกกับเขาด้วย ให้เขามีความมั่นใจในตัวเองว่าสิ่งที่เขาเป็นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องแย่หรือเป็นข้อเสียอะไร เขาก็แค่แตกต่างเท่านั้นเอง
พบนักจิตบำบัดคู่หรือ Couple Therapy
หากเราลองทุกอย่างแล้ว ไอ้เจ้าความรู้สึกกลัวการผูกมัดมันก็ยังคงอยู่ไม่ไปไหน ไม่น้อยลงมีแต่มากขึ้นจนตัวเราเองและคนที่เราคุยเขาไม่มีความสุขและกินเวลาในส่วนอื่น ๆ ของชีวิตไปจนเหนื่อย หากเป็นแบบนั้นขอแนะนำให้ลองไปพบนักจิตบำบัดคู่หรือ Couple Therapy เพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งเราอาจจะได้วิธีการที่ดีที่เหมาะกับคู่เรามาลองปรับอีกสักครั้ง เพราะนักจิตบำบัดแน่นอนว่าเขาต้องมีกลยุทธ์เชิงลึกที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนจริง ๆ ให้เรามาปรับใช้กับคู่ของเราอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง
• อยากคุยแต่ไม่อยากคบ 'เป็นแค่คนคุย' ถ้าเจอแบบนี้เราควรจะทำยังไงต่อ
• อยากมีแฟนต้องร่ายคาถาบทไหน...ลอง 36 คำถามที่จะทำให้คนตกหลุมรักกัน !
• ‘เขาชอบเราจริงไหม’ หรือแค่หาคนคุยแก้เบื่อ
• ทั้งที่ไม่ได้อินดี้ แต่ทำไมเราถึงยังเหงาอยู่นะ
• 6 เหตุผลที่ทำไมบางคนถึงครองแชมป์ 'คนโสด' ได้หลายสมัย
• 5 บทเรียนราคาแพง ‘ความรักก็เหมือนผีเสื้อ’ จากซีรีส์ Nevertheless
• คนนี้คือคนที่ใช่หรือเปล่า วิธีพิสูจน์คู่แท้แบบวิทยาศาสตร์
• Imago Theory ทฤษฎีที่จะตอบได้ว่าทำไมถึงตกหลุมรักคนนิสัยเดิม ๆ
• คำว่า ‘ศีลเสมอกัน’ ในความสัมพันธ์ แปลว่าอะไร ทำไมถึงสำคัญนัก
• ถอดทริคเด็ดจาก 'ทฤษฎีจีบเธอ' จีบยังไงให้ได้เข้าไปนั่งในใจคนที่ชอบ
• ทำไมสาวเปิ่น ๆ โก๊ะ ๆ ถึงได้ใจพระเอกซีรีส์เกาหลี
• เรากำลังมีความรัก มีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่หรือเปล่า ?
• คำเรียกแฟน ฉายาจากเพื่อนสนิท สามารถบอกได้ว่าความสัมพันธ์ดีแค่ไหน
แหล่งข้อมูล
- Commitment Phobia โรคกลัวการผูกมัด
- 10 Signs That Your Lover Is Commitment Phobic
- How to Recognize and Get Over Commitment Issues
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป