10 วิธีช่วยอนุรักษ์ป่าที่ไม่ใช่การออกไปปลูกต้นไม้
Posted By Plook Magazine | 10 ม.ค. 65
23K views

Shares
0

การสูญเสียพื้นที่ป่าไม่เพียงแต่ทำให้โลกร้อน แต่ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ ๆ เพราะการทำลายป่าคือตัวเร่งที่สำคัญให้เกิดโรคระบาดใหม่ ข้อมูลจากรายงานการประชุมเวทีวิทยาศาสตร์นโยบายระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (IPBES) ประจำปี 2020

 

 

อนุรักษ์ป่าไม้ ป้องกันโรคระบาดใหม่ด้วยธรรมชาติ 

Cr.unsplash/DAVID NIETO

 

เราคงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าต้องอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อลดโลกร้อน ป้องกันอุทกภัย ฯลฯ แต่ความจริงแล้วป่าไม้ปกป้องเราได้มากกว่าที่คิด การอนุรักษ์ป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่ายังช่วยป้องกันเราจากโรคระบาดใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะ 70% ของโรคระบาดเป็นการติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (zoonoses) เช่น โรคอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคไข้ซิกา โรคเอดส์ และโรคซาร์ส โดยนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่ามีไวรัสอีก 1.7 ล้านชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีก เเละในจำนวนนั้นกว่า 631,000–827,000 ชนิดสามารถติดต่อสู่คนได้ โดยมีสัตว์จำพวกค้างคาว หนู ไพรเมต นก หมู อูฐ และสัตว์ปีกเป็นพาหะนำโรค  

 

ซึ่งก็ตรงกับการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ณ ตลาดสดที่ชำแหละสัตว์ที่เพิ่งถูกจับมาสด ๆ ร้อน ๆ จากป่ามาขาย เป็นที่ ๆ เชื่อว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจถูกส่งต่อมาสู่มนุษย์โดยมีค้างคาวเกิดการกลายพันธุ์ทำให้ได้เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แต่แทนที่เราจะมุ่งกำจัดสัตว์ป่าที่เป็นพาหะนำโรค เรากลับต้องทำตรงกันข้ามก็คือ อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าทำลายพื้นที่ป่า อย่าเข้าไปบุกรุกทับพื้นที่หากินของสัตว์ป่าเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

 

ภาพแสดงการติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ป่าสู่คนจากการบุกรุกพื้นที่ป่า
Cr.IPBES

 

บ่อยครั้งที่เชื้อไวรัสแพร่ไปสู่คนมักมีต้นเหตุมาจากคนเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ป่าเพื่อฉวยเอาผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการล่าเพื่อเป็นอาหาร จับมาเพื่อการค้า บุกรุกพื้นที่หากินเพื่อธุรกิจ ทำให้ผู้คนต้องสัมผัสติดต่อกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยที่ไม่รู้เลยว่าพื้นที่ป่าซึ่งเต็มไปด้วยความหนาแน่นทางความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสถานที่ที่เป็นพาหะของโรคระบาดต่าง ๆ มาตั้งแต่พันกว่าปีที่แล้ว (กาฬโรคเกิดขึ้นในปี 541 โรคนี้ถ่ายทอดมาจากเชื้อแบคทีเรียจากหมัดบนตัวหนู)  

 

ภาพแสดงพื้นที่ป่าของประเทศไทยปี พ.ศ. 2521–2563
Cr.สำนักจัดการที่ดินป่าไม้

 

จากรายงานสถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่ารอบโลกพบว่าทุก ๆ ปี ทั่วทั้งโลกกำลังสูญเสียพื้นที่ป่าขนาดเท่าประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนอย่างป่าแอมะซอนซึ่งเป็นพื้นที่ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้สูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 2.4 ล้านเอเคอร์หรือประมาณจังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2020 จากการสำรวจของสถาบันเพื่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมแห่งแอมะซอนโดยในประเทศไทยปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ.2561–2562 จำนวน 102,484,072.71ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ.2560–2561 จำนวน 4,229.48 ไร่ จากการถูกทำให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรผลิตอาหาร อุตสาหกรรมปศุสัตว์และพืชพลังงาน

 

ถ้าเรายังเบียดเบียนที่อยู่อาศัย แย่งนํ้า อาหาร และดินแดนจากสัตว์ป่า ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสของการสัมผัสเชื้อโรคนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคระบาด การเข้าไปบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ายังเป็นการเร่งให้สัตว์เกิดความเครียดต้องละทิ้งที่อยู่อาศัยเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ (ปัจจุบันพบว่ามีสุนัขจิ้งจอกป่าเข้ามาอยู่ในลอนดอนเยอะกว่าแมวเสียอีก) การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายยังทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคใหม่ ๆ ได้มากที่สุด ดังนั้นการช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าทำให้เราได้อะไรกลับมามากกว่าต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการได้มีสุขภาพที่ดี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไปจนถึงคุณภาพชีวิตที่อัปเกรดขึ้นเป็นกอง ทั้งนี้ยังมีวิธีอนุรักษ์ป่าไม้อื่น ๆ ที่สามารถทำได้ทุกวันคนละไม้คนละมือดังนี้

 

 

10 วิธีช่วยอนุรักษ์ป่าที่ไม่ใช่การออกไปปลูกต้นไม้ 

 

Cr.freepik

 

1. กินเนื้อให้น้อยลง หลายคนคงบอกว่าเหตุผลนี้อีกแล้วเหรอ แต่การกินเนื้อทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายไปมากเพื่อทำปศุสัตว์ขนาดใหญ่ แล้วก็ต้องถางพื้นที่ป่าอีกมหาศาลเพื่อที่จะปลูกถั่วเหลือง GMOs ให้วัวกินเพื่อให้วัวมาเป็นอาหารของเราอีกที การกินเนื้อให้น้อยลงจึงถือเป็นการไม่สนับสนุนให้ทำลายป่าจริง ๆ นะ

 

2. เน้นกินอาหารจากพืช (Plant-based Food) กินผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่วและผลไม้เป็นหลัก โดยมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์น้อยลง เลี่ยงอาหารแปรรูปจากระบบอุตสาหกรรมให้มากที่สุด แล้วพืชก็ต้องเป็นพืชที่มีที่มาที่ถูกที่ควรไม่ใช้สารเคมีด้วย เพราะพืชก็ทำลายป่าได้เหมือนกัน เช่นพืชบางชนิดต้องทำลายป่าไปหลายไร่เพื่อที่จะปลูก หรือพืชบางชนิดที่ปลูกทับพื้นที่ป่าทำให้สัตว์ไปหากินไม่ได้ก็มี

 

3. กินขนมหวานแต่พอดี สายคาเฟ่ก็อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองรักป่ากว่าสายเนื้อนะ การปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลก็ใช่ย่อยถึงฤดูเก็บเกี่ยวทีไรก็ต้องเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว รวมถึงน้ำมันปาล์มที่ใช้ทำขนมหรือใช้แทนเนยโกโก้ (Cocoa Butter) ก็ถูกปลูกบนพื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมหาศาลในอินโดนีเซียและมาเลเซียเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ดังนั้นกินแต่พอดี

 

4. เลือกอาหารไร้สารเคมี สนับสนุนอาหารไร้สารเคมี เช่น พืชผักผลไม้อินทรีย์ อาหารพื้นถิ่น อาหารตามฤดูกาล อาหารตามตลาดนัดแถวบ้านที่ขายโดยเกษตรกรที่ปลูกเอง เพราะเป็นอาหารที่เกิดขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมี สารเร่งใด ๆ ที่จะทำให้ดินและน้ำเสื่อมสภาพที่อาจจะทำให้ป่าได้รับผลกระทบตามไปด้วย อีกอย่างดีต่อสุขภาพด้วย

 

5. เป็นหูเป็นตาช่วยรักษาอนุรักษ์ป่า ช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันเป็นปากเป็นเสียงไม่สนับสนุนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกที่ดินในพื้นที่ป่าไม้อย่างผิดกฎหมาย โครงการพัฒนารีสอร์ท การทำเหมืองแร่และการก่อสร้างถนนและการก่อสร้างเขื่อนที่มันผิดก็ต้องช่วยกันส่งเสียง ส่งพลังรักษ์โลกเพราะแม้แต่ก้อนกรวดเล็ก ๆ เมื่อรวมตัวกัน มันก็เปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำได้นะ

 

6. งดใช้กระดาษ เปลี่ยนทุกอย่างที่ทำได้ในรูปแบบกระดาษให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเข้าอีเมล์ได้ก็ให้ทำเลย เพราะตัวการหนึ่งที่เร่งให้เกิดการทำลายป่าก็คือ การตัดไม้เพื่อป้อนอุตสาหกรรมกระดาษ อินโดนีเซียเสียพื้นที่ป่าอย่างน้อย 1.3 ล้านเฮกตาร์ต่อปี สาเหตุหลักคือการตัดไม้เพื่อป้อนอุตสาหกรรมกระดาษ

 

7. ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ลดการตัดไม้ทำลายธรรมชาติเพื่อนำมาทำบรรจุภัณฑ์กระดาษ พกอุปกรณ์ทานอาหาร ถุงผ้า ขวดสำหรับรีฟิลไว้กับตัว เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุรีไซเคิล และนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ

 

8. ใช้ผ้าแทนกระดาษทิชชู เราใช้กระดาษทิชชูเช็ดมือเช็ดหน้าปีละหลายล้านฟุต ซึ่งหมายถึงการโค่นต้นไม้ลงมหาศาล ซึ่งทิชชูเป็นกระดาษที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เลย ให้เปลี่ยนไปพกผ้าเช็ดหน้าเช็ดมือแทน ช่วยกันไม่หยิบทิชชู ไม่เอามาห่อเครื่องดื่มในร้านกาแฟ 

 

9. ประหยัดพลังงาน ช่วยกันประหยัดพลังงาน ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อช่วยหยุดการลักลอบทำเหมืองแร่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน การทำลายพื้นที่ป่าเพื่อตัดถนนเบิกทางเข้าป่าไปทำเหมืองแร่ หรือการทำเหมืองแร่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นสาเหตุของการทำลายพื้นที่ป่าให้เสียหายมากที่สุด 

 

10. พิจารณาข้อมูลผลิตภัณฑ์ สังเกตฉลาก สัญลักษณ์รับรองต่าง ๆ เช่น FSC, เกษตรอินทรีย์, คาร์บอนฟุตพริ้นท์, เครื่องหมายรีไซเคิลที่มีนโยบายในการทำธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า หรือบรรจุภัณฑ์นี้ได้มีการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อนำมาทำบรรจุภัณฑ์กระดาษนั่นเอง


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อสิ่งแวดล้อมดี เราจะไม่โสด... เป็นเพราะอะไร ?

วิชา 'ความหลากหลายทางชีวภาพ' ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

เมื่อโลกมันร้อนขึ้นทุกวัน เราจะช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงบ้าง ?

โอโซนโลกสำคัญยังไง ? แล้วเราจะช่วยกันปกป้อง ‘โอโซน’ ได้ยังไงบ้าง

‘รักเธอเท่าทะเลเลย’ เหตุผลที่ว่าทำไม 'รักเท่าทะเล' มันถึงไม่ได้โรแมนติกนัก

HOW TO STOP FAST FASHION: ช้อปปิ้งยังไงโดยที่ไม่สนับสนุนฟาสต์แฟชั่น

เราจะเซฟคนจากปัญหาการอดอยากในวันอาหารโลกได้อย่างไรบ้าง ?

โรคขาดธรรมชาติอาจทำให้สมาธิสั้นลง เคล็ดลับเชื่อมต่อกับธรรมชาติในยุค New Normal

ทำความรู้จักกับ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ สัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกที่เสี่ยงสูญพันธุ์

7 ต้นไม้ทรงเก๋ ช่วยเพิ่มความชิคให้ห้องดูมีสไตล์

วัยรุ่นสไตล์อีโค


 

แหล่งข้อมูล

- IPBES WORKSHOP ON BIODIVERSITY AND PANDEMICS WORKSHOP REPORT

- ย้อนรอยโรคระบาดจากสัตว์ป่า 

- พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2521 - 2563  

- 100 วิธีดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

- ลงมือปลูกต้นไม้ สร้างแหล่งน้ำ เพื่อโลกที่ร่มเย็น

- อาหาร Plant-based ช่วยโลกได้จริงไหม และกินแบบไหนถึงจะช่วยโลกและเราได้จริง

 
 
 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป