หลักการทำงานของสมองในเรื่องความจำโดยทั่วไปแล้วเวลาที่เราจำอะไรสักอย่างนั้น สมองจะมีการบันทึกความจำเอาไว้ทั่วสมองจากนั้นข้อมูลที่เราต้องการจำจะถูกจัดเก็บตามระบบ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้งาน สมองส่วนหน้าจะส่งสัญญาณเรียกข้อมูลที่ต้องการออกมาใช้งานเป็นลำดับ แต่บางครั้งข้อมูลที่ต้องการใช้งานก็ไม่ถูกส่งมาหรือที่เราเรียกว่า ‘ลืม’ นั่นเอง เช่น เราเดินไปเปิดตู้เย็นแต่ก็ลืมไปเฉย ๆ ว่าจะมาหยิบอะไร หรือวันที่เราล็อคประตูห้องโดยที่ลืมหยิบกุญแจออกมาด้วย เป็นต้น อาการเหล่านี้เรียกว่าอาการหลงลืมทั่ว ๆ ไป ซึ่งเกิดจากการไม่ได้บันทึกความจำนั้นตั้งแต่แรก เมื่อถึงเวลาที่ต้องเรียกข้อมูลออกมาใช้งานจึงทำไม่สำเร็จ หรือเพราะจิตใจไม่ได้จดจ่ออยู่ตรงนั้น ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือว่ากำลังรีบสุด ๆ
ส่วนอาการสมองแบลงค์หรือภาวะสมองว่างเปล่ากะทันหันก็เป็นหนึ่งในอาการหลงลืมเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สาเหตุ ส่วนสาเหตุของอาการสมองแบลงค์เกิดจากความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกันระหว่างความเครียดและความจำ ส่วนใหญ่แล้วอาการสมองแบลงค์มักจะมีสาเหตุมาจากความเครียดระยะสั้น ภาวะนี้จะเกิดเมื่อสมองอยู่ในภาวะที่ต้องแบกรับข้อมูลจำนวนมากเกินไป หรืออยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมจะรับรู้ไม่อาจจัดการกับความจำได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็อาจทำให้เกิดอาการหลงลืมกะทันหันได้เพราะสมองจะล้างความทรงจำเพื่อการใช้งานเฉพาะหน้าให้ว่างเปล่าเมื่อเปลี่ยนสถานที่เพื่อให้พร้อมรับข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
แม้ความเครียดจะเป็นตัวการทำให้เกิดอาการสมองแบลงค์ แต่กลับพบว่าหากเราเทรนร่างกายและสมองให้ชินกับความเครียดระดับปานกลาง (moderate stress) ก่อนวันสอบจริงจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองแบลงค์ระหว่างนั่งสอบได้ เพราะการพยายามนึกให้ออกมักจะสร้างความเครียดส่งผลให้ฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) หลั่งออกมาจำนวนมากจนทำให้คิดไม่ออกยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นจึงแนะนำว่าให้เราค่อย ๆ ฝึกสมองให้ชินกับความเครียดระดับปานกลางก่อนถึงวันสอบจริงเพื่อหลีกเลี่ยงอาการสมองแบลงค์
จับเวลา ปรับสถานที่อ่านหนังสือ
เตรียมตัวในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับตอนสอบ ความแปลกใหม่จะเป็นตัวสร้างความเครียดระดับปานกลางได้ การทำข้อสอบแบบจับเวลาหรือนั่งทำข้อสอบเก่าที่โต๊ะดี ๆ แทนที่จะนั่ง ๆ นอน ๆ อ่านบนโซฟาเพื่อให้ร่างกายได้ตอบสนองต่อความเครียดก่อนวันสอบจริง นักจิตวิทยารู้กันมาสักพักแล้วว่าการเรียนรู้จะได้ผลดีที่สุดเมื่อสภาพแวดล้อมขณะเรียนรู้กับสภาพแวดล้อมขณะที่โดนทดสอบเหมือนกัน หรือเรียกว่าเป็นหลักความจำเพาะของการถอดรหัสความจำ (encoding specificity principle) พอถึงวันสอบจริงเราก็จะชิลล์แล้ว
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสามารถสร้างความเครียดระดับปานกลางให้เราได้ ด้วยการเพิ่มระดับการเต้นของหัวใจ การหายใจระหว่างออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเดินเร็ว หรือว่ายน้ำ เป็นต้น การออกกำลังกายจะเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมองซึ่งจะช่วยลดความกังวล เพิ่มความแข็งแรงให้จิตใจ ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละ 30 นาที การออกกำลังกายไม่ใช่แค่ทำให้สมองแล่นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าและระบบต่าง ๆ ทำงานดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเราควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก่อนสอบหนึ่งเดือน
กำหนดลมหายใจ
เมื่อวันสอบจริงมาถึง หลายคนต้องไปสอบในสถานที่ที่เราไม่คุ้นชิน สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ และคู่ต่อสู้ที่รายล้อมในห้องสี่เหลี่ยม หากเรายังรู้สึกเป็นกังวลอยู่ให้เราหายใจเข้าลึก ๆ ให้เต็มปอดแล้วปล่อยออกมาทางปากเพื่อต่อต้านการตอบสนองต่อร่างกายไม่ให้เข้าสู่โหมดต่อสู้หรือหนีจากปัญหา การหายใจเข้าลึก ๆ จะส่งผลให้ความกังวลลดลงในระหว่างนั่งทำข้อสอบ ดังนั้นถ้าเราเจอโจทย์ที่คุ้นแต่จำไม่ได้ว่าเคยเจอจากที่ไหนให้เราหายใจเข้าลึก ๆ พร้อมนับ 1-4 เป็นจังหวะช้า ๆ จะรู้สึกว่าท้องพองออก จากนั้นให้ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออก โดยนับ 1-8 และไล่ลมหายใจออกมาให้หมด สังเกตว่าหน้าท้องจะแฟบขณะทำ การทำแบบนี้จะช่วยให้เรารู้สึกว่าได้ผลักดันความเครียดออกมาจนหมด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความจำได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
• รวมเคล็ดลับลดความกดดันไม่ให้เสียสมาธิเวลาสอบ
• 9 อาหารช่วยเพิ่มความจำ ที่อยากแนะนำให้กินช่วงอ่านหนังสือสอบ
• เทคนิคอ่านหนังสือสอบสำหรับคนจำไม่เก่ง ขี้ลืม และมีเวลาน้อย
• แชร์เทคนิคอ่านหนังสือเตรียมสอบ ด้วยวิธีการจดจำแบบ SANDWICH
• ฝึกกระตุ้นรหัสสมองทั้ง 8 กลุ่ม ช่วยให้สมองแข็งแรงและสดใส
• เคล็ดลับในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้ไม่แผ่วปลาย
• 6 นิสัยยอดแย่ที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง
• HOW TO พักผ่อนสมองให้ความจำดีด้วยวิธี Mindfulness
• 4 วิธีเพิ่มนิสัยรักการอ่าน ช่วยให้อ่านหนังสือได้เยอะขึ้น
• คะแนนสอบน้อยไม่ต้องเซ็งนาน เรามีอะไรจะเล่าให้ฟัง !
• ทำไมถึงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ยิ่งอ่านยิ่งไม่มีสมาธิ ?
• 5 วิธีทำใจจาก TED Talks เมื่อผิดหวังจากคะแนนสอบ
• ตั้งใจเรียน ไม่เคยเท แต่ทำไมเกรดตก นี่เราพลาดอะไรไป ?
แหล่งข้อมูล
Does stress affect your memory? - Elizabeth Cox
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป