โรคสมาธิสั้นแท้ (ADHD : Attention Deficit Hyperactivity Disorder) มีสาเหตุเป็นได้จากหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุหลักในส่วนใหญ่ของผู้ป่วย โรคสมาธิสั้นในเด็กจะส่งผลให้เด็กทำอะไรไม่ได้นาน นั่งกับที่ไม่ได้ และทำงานไม่เสร็จ เนื่องจากอาการสมาธิสั้นเกิดจากการพัฒนาของสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิหรือเรียบเรียงตามลำดับขั้นตอนยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้เกิดพฤติกรรมนั่งได้ไม่นาน ซุกซน ยุกยิก หรือทำสิ่งต่าง ๆ ไม่เสร็จ แพทย์จึงต้องใช้ยาในการรักษาเพื่อช่วยควบคุมอาการนั้น จนกว่าที่สมองจะสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่
ส่วนโรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD : Pseudo-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) จะมีอาการเหมือนกับสมาธิสั้นแท้ทุกประการแต่จะต่างกันที่สาเหตุของโรค เพราะโรคสมาธิสั้นเทียมมีสาเหตุจากพัฒนาการและสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิต การเลี้ยงดู ไม่ใช่จากสมองหรือพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการบกพร่องทางการเรียนรู้ และหลายคนมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นสมาธิสั้นเทียม คิดว่าตัวเองแค่เบื่อเฉย ๆ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่อาการเบื่อธรรมดาแน่นอน โดยทั้งสองโรคต่างก็มีอาการที่เด่น ๆ ร่วมกัน ดังนี้
• ซุกซนไม่อยู่นิ่ง (Hyperactive) มีความตื่นตัวที่แสดงถึงอาการลุกลนตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่งได้ บางคนอยู่เงียบ ๆ ไม่ได้ ต้องส่งเสียงพูดคุยหรือขยับตัวเคลื่อนไหวและทำเสียงดังโดยไม่ระมัดระวังอยู่เสมอ บางคนอาจชวนเพื่อนคุยหรือก่อกวนเพื่อนในห้องเรียน
• ขาดความเอาใจใส่ ไม่มีสมาธิ (Inattention) ไม่สามารถรวบรวมสมาธิ สติ และใช้เวลาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ โดยเฉพาะกับสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่สนใจ มักจะมีอาการเหม่อลอยหรือไม่สนใจรายละเอียดของสิ่งรอบตัวบ่อยครั้ง เวลาทำการบ้านวิชาที่ไม่ชอบก็จะทำหยาบ ๆ ไม่เรียบร้อย ลืมกิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำหรือทำของหายบ่อย และมีปัญหาในการจัดระเบียบการทำงานและการบริหารเวลาที่แย่
• หุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ขาดความยับยั้งชั่งใจในการแสดงออก อยากทำอะไรก็ทำ ไม่สามารถอดทนรอคอยที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนหรือรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมได้ พูดแทรกในขณะที่ผู้อื่นกำลังคุยกันอยู่ หรือแกล้งคนอื่นระหว่างที่พวกเขาจดจ่อทำสิ่งใด และมักมีนิสัยใจร้อนมาก จนบางครั้งไร้ระเบียบวินัยไปเลย
ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป
โลกยุคดิจิทัล ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนสมัยนี้ไปอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ได้มาก็ต้องแลกกับความเสี่ยงในการเป็นคนสมาธิสั้นเทียม หากเล่นโซเชียลเกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน สมองของเราจะถูกสีสันสดใส ภาพและแสงที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในจอภาพเร้าให้เกิดความตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา จนสมองเกิดความเคยชินต่อสิ่งเร้าและมีปัญหาเมื่อต้องดำเนินกิจกรรมในชีวิตตามปกติ เช่น เข้าชั้นเรียน อ่านหนังสือ หรือทำงานบ้าน ซึ่งมันจะส่งผลให้เราไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นาน
การแข่งขัน
การแข่งขันตลอดเวลา ประเภทยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งเก่ง ยิ่งเร็วยิ่งเจ๋ง กลายเป็นค่านิยมให้กับเด็กรุ่นใหม่ติดนิสัยชอบทำอะไรเร็ว ๆ เพราะยิ่งทำอะไรเร็ว ๆ ได้แปลว่าดี ทำให้สมองตอบสนองต่อการทำงานที่เร่งรีบและเริ่มละเลยประสิทธิภาพของงานไปโดยปริยาย ทำให้สมองเราสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และทำงานได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ส่งผลให้งานที่ออกมาเป็นงานที่เร็วแต่ไม่ได้ดีเท่าที่ควร ต้องแก้งานหลายรอบ เพราะเราไม่สามารถรอหรือคิดอย่างลึกซึ้งได้
เรียนหนัก ไม่มีเวลาพักเลย
ในหนึ่งวันที่ต้องเรียน 7-8 วิชา แถมวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องไปเรียนพิเศษ ต้องเร่งทำคะแนนให้ได้ดีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กยุคนี้แทบจะไม่มีเวลาพักเลย ทำให้ชีวิตนี้ไม่เคยสัมผัสความว่าง ความสงบ หรือการมีสมาธิที่จะได้อยู่กับตัวเอง ทำให้สมองล้าและเหนื่อยเพราะต้องคิด ต้องเรียนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อจะต้องใช้สมาธิ มันก็จะมาแบบไม่เต็มที่เพราะสมองไม่เคยได้พักผ่อนเลย
ทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
บางคนเชื่อว่าคนเราทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน แต่ความจริงแล้วคนส่วนใหญ่ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ สมองของคนเราสามารถโฟกัสได้เพียงทีละอย่างเท่านั้น การทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง งานไม่เสร็จและมีโอกาสเกิดความผิดพลาดสูง การเรียนรู้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่พร้อมจะตอบสนองหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น อ่านหนังสืออยู่พอมีไลน์เด้งก็อ่าน และเปลี่ยนไปคุยไลน์ทันที สมองก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าต้องคอยสลับความสนใจไปยังสิ่งอื่นตลอด จนทำให้เกิดปัญหาสมาธิสั้นเทียม
ขาดการพบปะสังสรรค์
วัยรุ่นจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองผ่านการเชื่อมโยงเข้ากับกิจกรรมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเพื่อให้เราเรียนรู้จังหวะในการเข้าหาผู้คน แต่เนื่องจากวัยรุ่นบางคนอาจไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัวเลย จึงทำให้หลายคนสร้างความสัมพันธ์ผ่านหน้าจอมากกว่าชีวิตจริง จึงขาดประสบการณ์เรียนรู้ถึงการตอบสนองต่ออารมณ์ สีหน้า แววตา ท่าทาง การแสดงออก และความคาดหวังจากบุคคลอื่นในชีวิตจริง ทำให้เวลามีคนพูดอะไรยาว ๆ หรือพูดอะไรไม่ดีใส่ ก็จะทนไม่ได้ ไม่สามารถใช้เวลาทำความรู้จักใครได้มากพอ ไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น ซึ่งยิ่งทำให้การเข้าสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น
ไม่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ
เมื่อเรานั่งอยู่กับที่เพื่อจดจ่อไปที่หน้าจอเป็นเวลานานทำให้ตกอยู่ในภาวะเครียดได้ โดยอาจมีอาการปวดศีรษะหรืออ่อนเพลียเป็นประจำ รู้สึกเกร็งหรือเมื่อยล้าโดยไม่มีสาเหตุ อาจมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณคอและแผ่นหลัง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการผิดปกติที่กระดูกสันหลังจากการนั่งผิดท่าทางและไม่มีการผ่อนคลายเปลี่ยนท่าทาง ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายโดยรวม ทำให้เวลาทำสิ่งใดก็ตามเราจะเหนื่อย ล้าง่าย ไม่มีสมาธิเต็มที่ และรู้สึกไม่สดชื่นเอาซะเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง
• รู้ให้ทันอาการสมาธิสั้นในวัยรุ่น พร้อมวิธีปรับพฤติกรรมเบื้องต้น
• อ่านหนังสือไม่ได้ เอาแต่เล่นมือถือ ระวังเป็นโรค ‘สมาธิสั้นเทียม'
• ทำไมถึงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ยิ่งอ่านยิ่งไม่มีสมาธิ ?
• โรคขาดธรรมชาติอาจทำให้สมาธิสั้นลง เคล็ดลับเชื่อมต่อกับธรรมชาติในยุค New Normal
• 3 วิธี ‘ฝึกสมาธิ’ เรียกคืนสติในทุกสถานการณ์
• เรียนออนไลน์แล้วไม่มีสมาธิเลย มาฝึกเพิ่มสมาธิแบบง่าย ๆ ด้วยเทคนิค 5S กัน
• พัฒนาและฟื้นฟูสมองด้านความจำด้วยวิธี Walking Exercise
• อย่านั่งหลังงอ ! ประโยชน์ของการจัดท่าให้สง่าที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
• 10 วิธีออกกำลังสมองให้ฉลาดขึ้น ด้วยวิธี ‘Neurobic exercise’’
แหล่งข้อมูล
- ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงเป็น “สมาธิสั้นเทียม”กันมากขึ้น
- อันตรายจากโทรศัพท์มือถือที่(เผื่อ)คุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้
- ปล่อยให้ลูกอยู่เฉยๆ ช่วยพัฒนาสมองได้นะ
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป