*บทความนี้เป็นบทความบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของมารี อ็องตัวเนตต์ โดยอ้างอิงตามบันทึกและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีเจตนาที่จะตัดสินตัวบุคคลหรือกลุ่มคนใด ๆ
มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา โดยที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนเล่า เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจในประเทศฝรั่งเศสกำลังตกต่ำอย่างสุดขีด ประชาชนมีความยากจนข้นแค้น ซึ่งสวนทางกับพวกชนชั้นสูง ที่ใช้ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่า กินอยู่อย่างไม่สนความเป็นไปของประชาชน ตอนนั้นประชาชนอดอยากมากถึงขั้นไม่มีแม้แต่ขนมปังจะกิน พระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ในฐานะพระชายาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ผู้นำประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้ตรัสออกมาว่า “Let them eat cake” (กินเค้กแทนสิ) ถ้าเปรียบกับบ้านเราก็ประมาณว่า “ไม่มีข้าว ก็ไปกินก๋วยเตี๋ยวสิ”
“เจ้าหญิงมารี อ็องตัวเนตต์” (Marie Antoinette) มีพระนามเดิมว่า “มาเรีย แอนโทเนีย โยเซฟา โยฮันนา” (Maria Antonia Josepha Johanna) ประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1755 ที่พระราชวังเชินบรุนน์ (Schloss Schönbrunn) กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เธอเป็นพระธิดาที่มีพระสิริโฉมงดงามที่สุดในหมู่พระราชธิดาในอีกหลายพระองค์ พอพระนางมีพระชนมายุได้ 14 ชันษา พระนางได้ถูกสู่ขอให้ไปอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศสอย่าง “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16” (Louis XVI de France) เหตุการณ์นี้ทำให้คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ที่เคร่งศาสนาอยู่แล้ว ได้คัดค้านการอภิเษกสมรสในครั้งนี้ ทำให้เกิดการริเริ่มใช้คำเรียกพระนางว่า “ผู้หญิงออสเตรีย” ที่ใช้เป็นคำสบประมาท เนื่องจากแต่เดิมฝรั่งเศสและออสเตรียเป็นปฏิปักษ์กัน การแต่งงานครั้งนี้จึงมีขึ้นเพื่อหมายจะสานสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้เข้าด้วยกัน
ชีวิตหลังแต่งงานจึงไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ฝันไว้ ในช่วงแรกพระนางต้องมีการปรับตัวหลายอย่าง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมออสเตรียกับฝรั่งเศส พระนางต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน ต้องทนทุกข์กับการปรับตัวให้เข้ากับพระราชพิธี และขนบธรรมเนียมประเพณีแบบฝรั่งเศส ไหนจะพระสวามีที่ถูกสอนให้รังเกียจออสเตรีย ไม่แคล้วที่จะพยายามตีตนออกห่างจากพระนาง โดยการหนีออกไปเข้าป่าล่าสัตว์ตั้งแต่เช้าตรู่ ทำให้พระนางทรงเกลียดและอึดอัดกับการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้างเป็นอย่างมาก ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริงหลังจากแต่งงานกันได้ 3 ปี
นอกจากนี้พระนางยังต้องเผชิญกับปัญหาอีกมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวลืออื้อฉาว การแบ่งพรรคแบ่งพวกและดึงเข้ากลุ่ม จึงส่งผลทำให้เจ้าหญิงในวัยเพียง 16 ชันษา ใช้ชีวิตแบบอิสระและสนุกไปวัน ๆ จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างไม่ได้รับรู้เหตุการณ์บ้านเมืองเลยแม้แต่น้อย ว่าฝรั่งเศสในขณะนั้นวิกฤตหนัก ถึงขั้นราษฎรอดตายกันเป็นจำนวนมากเป็นเวลายาวนานแล้ว
อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นที่รู้กันอย่างมากก็คือเรื่องเกี่ยวกับ “มาดาม ดูว์ บารี” (Madame du Barry) พระสนมเอกคนสุดท้ายของ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 15” (Louis XV de France) ที่ไม่ค่อยลงรอยกันกับพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ว่ากันว่าต้นเหตุของความบาดหมางครั้งนี้เริ่มต้นจากการยุแยงโดยพระขนิษฐาทั้ง 3 ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ไม่ชอบหน้ามาดาม ดูว์ บารี เพราะมาดาม ดูว์ บารี เคยเป็นโสเภณีมาก่อน ทั้ง 3 จึงยุยงให้พระนางมารี อ็องตัวเนตต์ เกลียดพระสนมองค์นี้ไปด้วย
เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เสด็จสวรรคต พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงได้ขึ้นปกครองฝรั่งเศสแทน คู่กับพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ที่ได้ขึ้นเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศส แต่พฤติกรรมของนางก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย กระแสการต่อต้านพระนางเริ่มแพร่สะพัดไปทั่ว กลุ่มคนที่ต่อต้นพระนางได้ใช้วิธีโจมตีด้วยการแจกใบปลิวกล่าวหาว่าพระนางมีชายชู้ หรือแม้กระทั่งมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับสตรีด้วยกัน ใช้เงินฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ไม่ว่าพระนางจะพยายามทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับกลุ่มคนที่ต่อต้านพระนาง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ขนาดพระนางให้กำเนิดพระธิดาและพระราชโอรส ก็ยังมีข่าวลืมแพร่สะพัดว่าเป็นลูกชู้ นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าพระนางได้สั่งแต่งตั้ง โยกย้าย และปลดขุนนางตามอำเภอใจเป็นว่าเล่น แต่ในข้อมูลบางแห่งกลับบอกว่า บทบาททางการเมืองของพระนางค่อนข้างจะจำกัดมาก และแทบจะไม่มีอำนาจจัดการใด ๆ เองได้เลย
“คดีสร้อยพระศอ” (Affair of Diamond Necklace) ถือเป็นที่รู้จักว่าทำลายชื่อเสียงของพระนางมากที่สุดเรื่องหนึ่ง นายโบห์แมร์ ช่างเพชร ได้เรียกร้องเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาทจากองค์ราชินี เป็นค่าสร้อยคอเพชรที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของราชินีมารี อ็องตัวเนตต์ แต่พระนางไม่ได้ทรงรู้เรื่องมาก่อน พระนางจึงปฏิเสธไม่ยอมซื้อสร้อยเส้นนี้
เรื่องของเรื่องก็คือ มาดาม ดูว์ บารี ได้อ้อนวอนขอเครื่องเพชรที่แพงที่สุดในโลกจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระองค์จึงมีการสั่งให้รวบรวมเพชรเม็ดโต ๆ มาให้ช่างฝีมือด้านเพชรอย่างนายโบห์แมร์เป็นคนทำสร้อยคอเส้นนี้ขึ้นมา แต่พอสร้อยคอทำเสร็จ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็สวรรคตไปซะก่อน และมาดาม ดูว์ บารี ก็ยังหายตัวไปจากราชสำนักอีก นายโบห์แมร์ทุ่มเงินทำสร้อยเส้นนี้ไปจนหมดตัว ต้องเป็นหนี้สินมากมาย เขาจึงหาทางออกโดยการขายมันให้กับพระราชาและพระราชินีองค์ใหม่แทน แต่ถึงแม้ว่าจะปฏิเสธไป มันก็ดันทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องที่แย่กว่านั้นขึ้นมา
เนื่องจากมีคนต้องการสร้อยเส้นนี้มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “มาดาม ยีน เดอ ลาม็อตต์” ภรรยาของ “นิโคลัส เดอ ลาม็อตต์” ทั้งสองแสดงตนว่าเป็นคนชนชั้นสูง แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าพวกเขาเป็นนักต้มตุ๋นแฝงตัวมามากกว่า มาดาม ยีน เดอ ลาม็อตต์ รู้จุดอ่อนของพระคาร์ดินัล เดอ โรออง ว่าแอบหลงรักพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ แต่พระนางไม่เล่นด้วย มาดาม ยีน เดอ ลาม็อตต์ จึงไปหลอกพระคาร์ดินัลว่า จริง ๆ แล้วพระนางมารี อ็องตัวเนตต์อยากได้สร้อยเส้นนี้มาก แต่ไม่กล้าซื้อเพราะว่ามันแพง
ไม่ใช่แค่หลอกธรรมดา แต่มาดาม ยีน เดอ ลาม็อตต์ ถึงขั้นให้คนช่วยปลอมจดหมาย พร้อมกับลายเซ็นของพระนางมารี อองตัวเนตต์ หรือแม้กระทั่งให้โสเภณีที่มีหน้าตาคล้ายกับพระนางมารอพบในสวนยามวิกาลทุกคืน และแล้วนางก็ทำสำเร็จ พระคาร์ดินัลยอมจ่ายเงินซื้อสร้อยเส้นนั้นเต็มที่ โดยกะว่าเดี๋ยวจะไปทวงกับพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ทีหลัง พอเรื่องเริ่มแดงขึ้นจนถึงขั้นพิจารณาคดี พระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ซึ่งการดำเนินคดีและเปิดโปงความจริงทั้งหมดก็ชัดเจน แต่ข่าวที่ไปถึงประชาชนกลับเป็นข้อมูลคนละด้าน พวกเขายังคงหลงเชื่อว่า คู่สามีภรรยา เดอ ลาม็อตต์ เป็นคนดีและบริสุทธิ์ แต่ถูกพระนางกลั่นแกล้ง
พอการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย พระนางได้พยายามเต็มที่ที่จะปกป้องครอบครัวของพระนางและสถาบันกษัตริย์ สังเกตได้ว่าพระนางในช่วงนี้มีความคิดความอ่านเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เข้าใจปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ใช้เงินฟุ่มเฟือยน้อยลง ข้อมูลเพิ่มเติมทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ระบุว่า พระนางได้เก็บเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้อุทิศให้กับประชาชนผู้ยากไร้ คอยรับอุปการะเด็กกำพร้ามากมาย และยังใช้เงินท้องพระคลังช่วยเหลือเหล่าผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ที่เหยียบกันตายสมัยพระนางเปิดตัวใหม่ ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่น่าเสียดายที่ไม่ว่าจะพยายามทำดียังไง ก็ไม่อาจสู้กระแสความเกลียดชังที่พวกปฏิวัติพยายามกรอกหูประชาชนทุกวี่ทุกวันได้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เองก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ชาววังจำนวนมากต้องหลบหนี แต่พระนางและพระสวามีรวมถึงลูก ๆ หนีช้ากว่าที่ควร ส่งผลให้เกิดความผิดพลาด และถูกคณะปฏิวัติจับตัวได้ในที่สุด
ในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1792 สภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสได้ลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1793 ด้วยเครื่องประหารกิโยติน
ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม “มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์” ได้เรียกร้องกับคณะปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ว่าให้จัดการกับราชินีอีกพระองค์ด้วย ในระหว่างการไต่สวน มีข้อมูลหลายแห่งบันทึกไว้มากมาย แต่ส่วนมากหลัก ๆ คือ ข้อหากบฏ เนื้อหาที่อดพูดถึงไม่ได้ก็คือ ก่อนหน้านั้นเหล่าคณะปฏิวัติพยายามใส่ร้ายพระนางว่า มีอะไรกับพระราชโอรสของพระนางเอง แถมยังใช้การทรมานบังคับให้ราชโอรสกล่างหาพระนางเช่นนั้นอีกด้วย แน่นอนว่าพระนางให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ถึงยังไงมันก็ไม่ช่วยอะไร เพราะระบบการตัดสินของคณะลูกขุนปฏิวัติมีอยู่อย่างเดียวก็คือตามแต่ใจพวกเขา ไม่มีแม้แต่การให้เบิกที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ถ้าไม่ยอมปล่อยตัวไปก็ถูกประหารชีวิตมีแค่นั้น และพวกเขาเองก็คิดที่จะกำจัดพระนางอยู่แล้วด้วย
พระนางมารี อ็องตัวเนตต์สวรรคตด้วยเครื่องประหารกิโยติน ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1793 ในข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อประเทศชาติ ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 38 ชันษาเท่านั้น ก่อนหน้านั้นพระนางได้เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงพระนางอลิซาเบธแห่งฝรั่งเศส ใจความสรุปโดยย่อได้ว่า พระนางให้อภัยทุกคนที่กระทำเรื่องเลวร้ายต่อพระองค์ และไม่ต้องการให้ลูก ๆ ของพระนางแก้แค้นให้ตนเองหรือพระสวามีแต่อย่างใด และฝากถึงเหล่ามิตรสหายว่าจะระลึกถึงพวกเขาเสมอ แม้ในวินาทีสุดท้าย
มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ แกนนำของคณะปฏิวัติในการทลายคุกบาสตีย์ และเป็นผู้เรียกร้องให้ประหารพระราชากับพระราชินี ได้ฉวยโอกาสที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปประณามฝรั่งเศสในการกระทำดังกล่าว อาศัยจังหวะความวุ่นวายเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการความปลอดภัยส่วนรวม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของยุคสมัยที่น่ากลัวที่สุดของฝรั่งเศส
เขาได้กลายเป็นจอมเผด็จการอย่างแท้จริง เอะอะก็สั่งประหารหมด แม้แต่คดีเล็กน้อย ว่ากันว่าพลเมืองที่ถูกศาลปฏิวัติตัดสินประหารมีจำนวนมากกว่า 1,600 คน ในจำนวนนั้นมีสตรีถูกข่มขืนอย่างทารุณจำนวนมาก เขาเชื่อว่าความสงบอยู่เคียงคู่กับความกลัว และนั่นคือความถูกต้อง
ฝรั่งเศสตกอยู่ในยุคที่มืดมนเลวร้าย จนกระทั่ง “นโปเลียน” (Napoleon) ได้ปรากฎตัวขึ้นมากอบกู้สถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการจับกุมพวกคณะปฏิวัติ รวมถึงจอมเผด็จการอย่างรอแบ็สปีแยร์ด้วย ทีแรกรอแบ็สปีแยร์คิดจะชิงฆ่าตัวตายก่อนเพื่อหนีความผิดแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดเขาได้ถูกคุมขังในคุกเดียวกับที่ใช้ขังพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ และคนที่ประหารเขาก็คือ “ชาร์ล-เฮนรี่ แซนสัน” (Charles-Henri Sanson) คนเดียวกันกับที่ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั่นเอง เครื่องประหารก็หนีไม่พ้นกิโยตินที่เขาใช้ประหารผู้คนจำนวนมาก
ส่วนวลีที่ว่า “ไม่มีขนมปัง ก็กินเค้กสิ” เชื่อกันว่าเป็นข่าวลือที่สร้างขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายพระนางให้ภาพลักษณ์ของพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ที่ดูเลวร้ายอยู่แล้ว ยิ่งดูเลวร้ายมากขึ้นไปอีกในสายตาชาวฝรั่งเศส เพราะพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ไม่เคยเอ่ยประโยคนี้ขึ้นมาเลยสักครั้ง จริง ๆ แล้วพระนางก็เป็นแค่หมากตัวหนึ่ง หรือเป็นแค่แพะรับบาปของกระแสความเกลียดชังที่ชาวฝรั่งเศสมีต่อชาวออสเตรียเท่านั้นเอง
แหล่งข้อมูล
- หนังสือบันทึกราชนารี มารี อองตัวแนตต์ เจ้าหญิงแห่งแวร์ซายส์
- หนังสือบันทึกลับ มารี อ็องตัวแนตต์
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป