วิชา 'ความหลากหลายทางชีวภาพ' ที่โรงเรียนไม่ได้สอน
Posted By Plook Magazine | 13 พ.ค. 64
10K views

Shares
0

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่ากลัวที่สุดคืออะไร ? หลายคนคงตอบว่า ‘ปัญหาโลกร้อน’ แต่ความจริงแล้วปัญหาโลกร้อนไม่ได้น่าสะพรึงกลัวที่สุด แต่เป็นปัญหาการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หรือปัญหาของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธ์ุไปจนเข้าขั้นวิกฤติเกินขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundaries)        

 

 

ความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร สำคัญยังไง

 

Cr. Seaspiracy จาก IMDb


ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biological Diversity หมายถึง ความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เกิดต่อเนื่องมานับพันล้านปีซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของธรรมชาติและระบบนิเวศโลก ได้แก่ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย เชื้อรา มนุษย์ รวมไปถึงทะเลทราย ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา ทะเลสาบ แม่น้ำ ทะเล หรือแม้แต่พื้นที่เกษตรกรรม 

 

โดย UN ได้ประกาศให้ทุกวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) ซึ่งประเทศบราซิลเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลกประจำปี 2020 (ประเทศไทยติด 1 ใน 20) แต่ถึงอย่างนั้นความหลากหลายทางชีวภาพก็นับว่าลดลงอย่างมโหฬารทุกปีอยู่ดี   

 

 “40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ทำลายสิ่งมีชีวิตจนสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้มากถึง 50%”
 

Cr. stockholmresilience.org


ปัจจุบันสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสูญพันธุ์ไป 41% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไป 26% และอีก 50 ปีข้างหน้า สิ่งมีชีวิต 70% จะสูญพันธุ์ไปและกู่ไม่กลับ สารพัดสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแต่เราไม่เคยรับรู้ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญเพราะมันดูไกลตัวกว่าปัญหาโลกร้อนที่ใกล้ตัวกว่า 

 

ผู้เขียนพยายามคิดว่าจะทำยังไงดีให้น้อง ๆ เข้าใจความหมายของคำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ อย่างน้อย ๆ ก็เพื่อจะได้มองเห็นประเด็นใหม่ ๆ เมื่อครูสั่งให้ทำรายงานเรื่อง ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง’ นอกจากปัญหาโลกร้อน อย่างมากก็เพื่อเป็นเหตุผลเผื่อวันข้างหน้าเมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักขึ้นจะได้ช่วยกันทำอะไรสักอย่างอย่างไม่รีรอ ก็เห็นจะเป็นเรื่อง ‘Biomimicry’ 

 

‘Biomimicry’ หรือไบโอมิเมติกส์ คือ การที่มนุษย์ลอกเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติเพื่อนำไปเป็นข้อมูล แรงบันดาลใจในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า ‘bios’ แปลว่าชีวิต และ ‘mimesis’ ที่แปลว่าลอกเลียนแบบ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจให้เทคโนโลยีเจ๋ง ๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมากมาย (เพราะโรงเรียนอาจจะไม่ได้สอน ส่วนใหญ่จะให้ท่องสูตรในวิชาเคมี)    

 

 

เครื่องบินและปีกค้างคาว 

Cr. mozaweb


ราวศตวรรษที่ 15 เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ได้ออกแบบปีกเครื่องร่อนโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากปีกค้างคาว และแม้ว่าผลงานจากการออกแบบของเขาจะไม่สำเร็จ แต่จากบันทึกนั้นก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งเครื่องบินลำแรกของโลกสร้างสำเร็จในศตวรรษที่ 19 โดยสองพี่น้องตระกูลไรต์ ซึ่งทั้งสองคนก็ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบและพัฒนามาจากการบินของนก 

 

 

เข็มฉีดยาและเจ้ายุง

Cr. infectioncontroltoday


เข็มฉีดยาที่เราใช้กันในปัจจุบันเป็นการลอกเลียนแบบมาจากปากยุงที่เจาะเข้าสู่ผิวหนังคนเพื่อดูดเลือดโดยที่ไม่ทำให้คนรู้สึกเจ็บหรือรู้ตัวเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากปากยุงนั้นมีสองท่อที่ซ้อนกันอยู่ ยุงใช้ท่อแรกที่มีลักษะเหมือนใบเลื่อยเจาะผิวหนังมนุษย์ด้วยการสั่นหัวเบา ๆ เมื่อได้จังหวะเหมาะแล้วมันจึงใช้อีกท่อทิ่มลงมาดูดเลือดไปกิน เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์เซย์จิ อาโอยากิ (Seiji Aoyagi) จากมหาวิทยาลัยคันไซ (Kansai University) พัฒนาเข็มฉีดยาที่มีปลายเป็นใบเลื่อยเพราะมันลดความเจ็บปวดได้มากกว่าเข็มฉีดยาธรรมดา

 

 

ชุดดำน้ำโต้คลื่นและแมวน้ำ 

Cr. cbc


ชุดดำน้ำสำหรับนักเล่นกระดานโต้คลื่นได้รับแรงบันดาลใจจากตัวบีเวอร์และแมวน้ำ เพราะสัตว์ประเภทนี้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีขนช่วยในการกักเก็บอากาศไว้ทำให้มันอุ่นเมื่ออยู่ในน้ำ และผิวหนังแห้งได้เร็วเมื่อขึ้นจากน้ำ นักวิจัยได้ศึกษาขนของพวกมันอย่างละเอียด เริ่มทดลองสร้างพื้นผิวที่มีเส้นขนด้วยการนำซิลิโคนไปขึ้นรูปและทำให้คงรูปในแม่พิมพ์อะคริลิก จำลองรูขนาดเล็กระดับมิลลิเมตรจำนวนนับพันรูจนสามารถพัฒนาชุดดำน้ำสำหรับนักกีฬาโต้คลื่นได้ในที่สุด

 

 

ตีนตุ๊กแกจากตุ๊กแก

Cr. biomimicry153


นานมาแล้วที่มนุษย์สงสัยว่าทำไมตุ๊กแกมันปีนป่ายได้ยังไง ทำไมไม่ตกจากเพดาน จึงจับมันมาศึกษาและพบว่า ใต้อุ้งตีนของตุ๊กแกจะมีขนจิ๋วนับล้านเส้นเรียกว่า ‘ซีเต้’ โดยที่ส่วนปลายของขนซีเต้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สปาตูเล่’ อีกหลายล้านเส้นที่สามารถสร้างแรงดึงดูดทางไฟฟ้าอย่างมหาศาลทำให้เกิดการยึดติดกับโมเลกุลของสสารที่เป็นส่วนประกอบของผนังหรือเพดานได้ เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์คิดค้นเทคโนโลยีแถบยึดตุ๊กแก ถุงมือ ผ้าพันแผลที่สามารถแปะติดได้แนบแน่นขึ้น

 

 

รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นกับปากนกกระเต็น 

Cr. นิตยสาร creativethailand ปีที่ 12 ฉบับที่ 6


รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นรุ่นเก่ามีเสียงที่ดังมากและไม่มีใครปลื้มรถไฟที่เสียงดัง วิศวกรท่านหนึ่งชื่อ เอจิ นาคาสึ ที่ขึ้นชื่อว่าชอบดูนกเป็นชีวิตจิตใจได้ปิ๊งไอเดียที่จะทำให้รถไฟไม่เกิดเสียงดังเวลาวิ่งได้จากการสังเกตขณะที่นกกระเต็นโผลงไปจับปลาในน้ำที่ทั้งเร็วและเงียบสุด ๆ เพราะปากของนกที่คล้ายเพชรกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกแบบรถไฟหัวกระสุนรุ่นใหม่ที่เงียบในระดับ 70 เดซิเบลหรือเทียบเท่ากับเสียงเครื่องดูดฝุ่นซึ่งไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อการได้ยินของมนุษย์

 

 

ขาหุ่นยนต์จากแมลงสาบ

Cr. harvard.edu


นานมาแล้วมนุษย์ต้องการส่งยานอวกาศไปสำรวจนอกโลก และต้องการสร้างยานอวกาศที่มีขาที่มั่นคง ลงจอดแล้วไม่ล้มกลิ้ง เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ คล่องแคล่ว และต้องเร็วด้วย จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘เคยเห็นแมลงสาบหกล้มไหม’ แล้วก็ปิ๊งไอเดียที่จะศึกษาขาของแมลงสาบเพราะมันทั้งเร็วและไม่เคยล้ม จนพบว่าพวกมันเคลื่อนไหวคล้ายสปริงที่ขา ทำให้มนุษย์ประดิษฐ์เเละพัฒนาขาหุ่นยนต์ รวมถึงมือกลรุ่นใหม่จากเจ้าแมลงสาบ (มิน่าละถึงวิ่งหนีมันไม่ทันสักที) 

 

ตั้งแต่ได้รู้ว่าหัวรถไฟความสูงเร็วชินคันเซนถูกพัฒนามาจากหัวของนกกระเต็นก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากนกกระเต็นสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้ เราจะมีโอกาสได้รู้จักรถไฟความเร็วสูงหรือเปล่า ถ้าวันหนึ่งตุ๊กแก ผึ้ง แมวน้ำ วาฬเกิดสูญพันธุ์ไปด้วยเหตุผลบางอย่าง มนุษย์คงต้องปวดหัวคิดหนักมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือไม่ก็อาจจะคิดไม่ออกเลยก็ได้ หากขาดสัตว์ทั้งหลายที่เป็นรุ่นพี่ของการเรียนรู้ ต่อสู้และรับมือกับโลกมาก่อนเราตั้งหลายร้อยปีไปทีละน้อยแบบนี้      


 

แหล่งข้อมูล
- The nine planetary boundaries
- BIOMIMICRY คำตอบจากธรรมชาติ มีนาคม 2564 | ปีที่ 12 ฉบับที่ 6 
- เมื่อขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเกินเยียวยา
- อะไรเอ่ย… BIOMIMICRY?
- Next-generation cockroach-inspired robot is small but mighty 

 

 

 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Tags