10 จุดรู้ทัน Fake News เพราะวัยรุ่นยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันสื่อ
Posted By Plook Magazine | 01 ก.พ. 64
9K views

Shares
0

รู้อะไรไม่เท่า รู้เท่าทันสื่อ ! เพราะความน่ากลัวของข่าวปลอม (Fake News) สามารถสร้างความเข้าใจผิดทั้งต่อตัวเราเองและคนรอบข้างได้ (เมื่อเราแชร์ต่อ) การรู้เท่าทันข่าวปลอมยังช่วยให้เราพัฒนาระบบการคิดวิเคราะห์อีกด้วย มาดูกันว่าเราจะจับพิรุธข่าวปลอมในโซเชียลมีเดียได้จากตรงไหนบ้าง 

 

1. สงสัยพาดหัวข่าว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และเครื่องหมายตกใจเกินจริง หากข้อความพาดหัวชวนให้ดูน่าตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม เช่น ข่าวด่วน!! สาวอังกฤษใช้วิธีนี้ในการทำให้หน้าขาว คลิกเลย หรือ นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้คุณขาเรียวมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
 

2. สังเกตชื่อ Link และ URL แหล่งข่าวปลอมจำนวนมาก เปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง สิ่งที่ควรทำคือไปที่เว็บไซต์ของแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เพื่อเปรียบเทียบ URL กับแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ 
 

3. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวที่เขียน เนื้อหาของข่าวมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือไหม ถ้ามีชื่อบุคคลในข่าวให้ลองนำชื่อไปเสิร์ชดูว่ามีตัวตนอยู่จริง ๆ ไหม และมีชื่อเสียงด้านความถูกต้องหรือไม่ หากเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ก็ควรตรวจสอบก่อน อย่าเชื่อโดยทันที
 

4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ เช่น อยู่ ๆ ก็โผล่มาแทรกในข่าวต่าง ๆ ที่เรากำลังอ่านอยู่ โดยที่มีเนื้อหาไม่เกี่ยวกันเลย สมมติว่าเรากำลังอ่านข่าวดาราเลิกกันอยู่ เลื่อนลงมาเรื่อย ๆ กลับเจอลิงก์เกี่ยวกับพระเครื่องหรือครีมทาหน้าขาว โดยมีคำเชิญชวนให้เรากดคลิกเข้าไปอ่านแบบชัดเจน
 

5. พิจารณารูปภาพ เรื่องราวข่าวปลอมมักมีรูปภาพที่เหนือจินตนาการ หรือมีคลิปวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว สิ่งที่ควรทำคือค้นหาแหล่งที่มาของรูปว่ามาจากไหน บางรูปตัดต่อซะจนจับพิรุธได้หรือบางรูปก็ไม่ชัดเลย บางรูปเป็นแค่ข้อความแชทที่แคปมาเท่านั้น  

 

6. ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น กินแล้วหายภายใน 2 วัน ใช้แล้วขาวใสทันที หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์เพื่อบิดเบือนข้อมูลจากแหล่งข่าวจริง เช่นในข่าวอาจจะบอกว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้… แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้วก็ได้    
 

7. ตรวจสอบหลักฐาน ควรตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้องไหม หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียงตามแหล่งข้อมูลที่แนบมา อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม ซึ่งข่าวปลอมส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีแหล่งที่มาอยู่แล้ว
 

8. เช็กข่าวจากแหล่งที่มาอื่น ๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอมหรือไม่ เพราะหากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ก็มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง ควรสังเกตจากแหล่งที่มาอื่น ๆ ด้วย โดยการเสิร์ชเรื่องนั้นบนกูเกิล  
 

9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งการแยกข่าวปลอมให้ออกจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนเป็นไปได้ยาก ควรตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิง ก็ไม่ควรเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง 
 

10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม ควรใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่อ่าน และควรแชร์เฉพาะข่าวที่เราแน่ใจแล้วว่าเชื่อถือได้เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เพื่อน ๆ ในโซเชียลมีเดียโดนหลอกไปด้วย ข่าวปลอมต่าง ๆ ที่ทำมาอย่างตั้งใจก็เพื่อให้เราคลิกเพิ่มยอด engagement ให้เว็บเยอะ ๆ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ 


 

แหล่งข้อมูล
- ตร.ปอท.แนะ วิธีตรวจสอบและรับมือข่าวปลอม

 

 

เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Tags