Fast Fashion คือการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นการซื้อง่าย ขายเร็ว ราคาย่อมเยาโดยใช้เวลาในการผลิตจนถึงวางขายเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 15-30 วัน เช่น แบรนด์เสื้อผ้า Zara, H&M, Uniqlo, Topshop ฯลฯ ส่งผลให้เราอยากซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อย ๆ เพราะว่าต้องการซื้อคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ที่ออกมาทุกอาทิตย์ แต่ใส่ไปแค่ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งให้มันนอนเหงาอยู่ในตู้เสื้อผ้า
ปัญหาที่ตามมานอกจากจะหมดเงินไปกับการช้อปปิ้งแล้ว ก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะแฟชั่นเป็นอุตสาหรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด (จากรายงานการประชุม G7 ปี 2019 ประเทศฝรั่งเศส) ทำลายทั้ง Sustainable Fashion ทำให้เกิด Climate Crisis เกิดการใช้ทรัพยากรมหาศาลอย่างไม่คุ้มค่า และยังทำให้เกิดการบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณเพื่อมาผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion อีกด้วย
แต่หลายคนก็จะมีคำถามขึ้นมาว่า แล้วถ้าไม่ให้ซื้อ Fast Fashion แล้วจะให้ซื้ออะไร ? ก็เงินไม่ถึงแบรนด์อื่น มีอุดมการณ์นะ เข้าใจว่ามันทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่รายได้ตอนนี้ซื้อได้แค่ของที่มันถูกและดีอย่าง Fast Fashion ประเด็นก็คือ เราสามารถซื้อ Fast Fashion ได้ แต่เราจะซื้อเมื่อจำเป็นและแน่ใจว่าเราจะใช้มันไปอีกหลายปี เพราะทางออกของ Fast Fashion ไม่ใช่การให้เราหยุดซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion แล้วไปซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมหรือแบรนด์ที่โฆษณาว่ารักษ์โลก (Sustainable Brand) แต่ทางออกคือการใช้ซ้ำ ไม่ซื้อเพิ่ม ใช้มือสองหรือแลกกับเพื่อน เพราะการชอบของถูกและดีไม่ผิด แต่ถ้าชอบซื้อของถูกและดีตลอดเวลาแล้วใช้ไม่คุ้มค่านั่นต่างหากคือ Fast Fashion!
ใครที่ชอบซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกทีเวลาต้องออกงาน ไปเที่ยว เยี่ยมญาติ ไปคอนเสิร์ต เลี้ยงรุ่น หรือแม้แต่จะไปเจอเพื่อนเฉย ๆ ก็ให้คิดเยอะ ๆ เพราะการซื้อเสื้อผ้าเพื่องาน ๆ เดียวเป็นการสนับสนุน Fast Fashion เต็ม ๆ ทางที่ดีควรใส่เสื้อผ้าที่เรามี ลดการซื้อ ไม่ซื้อเพิ่มเพราะมันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง หรือเพราะมันลดราคา 70% ซื้อ 1 แถม 1 ลองนึกดูว่าถ้าทุกคนบนโลกพร้อมใจกันซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องไปเที่ยว ใส่เพื่องานวันเดียวเเล้วก็ไม่ได้ใส่อีก มันจะทำลายสิ่งแวดล้อมแค่ไหนและจะสร้างขยะมากขนาดไหน
บางคนใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วไม่ใส่ซ้ำอีกเลย เพราะไม่อยากให้คนอื่นเห็นว่าใส่เสื้อซ้ำ หรือกลัวคนอื่นจะทักว่าทำไมใส่เสื้อซ้ำ กลัวรูปไม่คูลเวลาลง Instagram เพราะ Instagram culture และเหล่า Influencer ต่างพยายามทำให้เรารู้สึก ‘ตกเทรนด์’ ถ้าใส่อะไรซ้ำ ๆ หรือลงรูปเสื้อผ้าชุดเดิม แล้วกระตุ้นให้เราซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลา แถมยังทำให้ #ทีมใส่เสื้อซ้ำ รู้สึกผิดอีกกกก ทางทีดีเราควรหันมามิกซ์แอนด์แมทช์เพิ่มระดับความครีเอทีฟกับเสื้อผ้าที่เรามีอยู่ล้นตู้
บางคนมีความสุขที่ได้ซื้อของ โดยเฉพาะเสื้อผ้าใหม่ อาจจะเพราะอยากให้รางวัลตัวเองจึงทำให้หลายคนรู้สึกฟินมากเวลาได้ซื้อของตามกระบวนการทางจิตวิทยา ต้องยอมรับว่าเราทุกคนล้วนมีกิเลสตัณหา เมื่อไอ้ต้าวกิเลสตัณหาได้รับการสนองด้วยการซื้อ หัวใจก็ย่อมฟูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ขอว่าครั้งหน้าให้เราซื้ออย่างอื่นที่ไม่ใช่เสื้อผ้า ลองเปลี่ยนไปให้รางวัลตัวเองด้วยอาหารมื้อดี ๆ หนังสือดี ๆ ทริปดี ๆ หรืออย่างอื่นที่จะไม่สนับสนุน Fast Fashion ดีกว่า
หากใครอยากเปิดใจใช้ของมือสองก็จะดีมาก เพราะถ้าทุกคนช่วยกันลดการช้อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่และใช้ของมือสองแทน เราจะสามารถหยุดวงจรการผลิต Fast Fashion ได้หลายเปอร์เซ็นต์ ลองไปช้อปที่ตลาดนัดจตุจักรโซนมือสอง ร้านของมือสองดี ๆ มีคุณภาพในไอจี หรือในกลุ่มขายเสื้อผ้ามือสองสภาพ 90% ในกลุ่มเฟซบุ๊ก โดยเราอาจจะเริ่มที่กางเกงมือสองหรือเสื้อยืดมือสอง ซื้อมาแล้วก็ทำความสะอาดให้สบายใจ แถมราคาก็ถูกกว่าซื้อมือหนึ่ง เซฟเงินได้เกือบครึ่ง และยังเป็นการไม่สนับสนุน Fast Fashion อีกด้วย
แหล่งข้อมูล
- Extinction Rebellion Is The Collective Calling for a Yearlong Boycott of Buying New Clothes
- ‘Fast Fashion’ ซื้อง่าย-หน่ายเร็ว ผลิตมาก-ราคาถูก-สูบทรัพยากรโลก
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป