หลายคนคิดว่าการทำรายงานสมัยนี้มันง๊ายง่าย แค่มีเน็ตก็ทำเสร็จแล้ว แต่ความที่มันง่ายและสะดวกก็นำมาซึ่งปัญหาที่เรามองไม่เห็นเหมือนกัน เพราะเนื่องจากการที่เรามีข้อมูลมากมายจากหลายเว็บไซต์ให้เราได้ค้นคว้าหามาทำรายงาน แต่หลายคนก็ทำแค่คลิกขวาก็อปข้อความแล้วเอาไปวางใน words ให้ได้เยอะ ๆ เสร็จแล้วก็เอาไปพิมพ์ เย็บเล่ม ส่งครู ถือเป็นความล้มเหลวทางการศึกษาที่ตั้งใจอยากจะผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และมีความคิดเป็นของตัวเองอย่างมาก
• การคัดลอกผลงานโดยตรง
• อ้างอิงที่มาแต่ไม่ใส่เครื่องหมายคำพูด
• การพิมพ์ซ้ำ คัดลอกผลงานเก่าของตัวเอง
• การสมรู้ร่วมคิดเพื่อขโมยผลงาน
• การประดิษฐ์หรือบิดเบือนเนื้อหาให้ต่างจากเดิมโดยไม่อ้างอิง
• การว่าจ้างให้ทำหรือเขียนบทความทางวิชาการ
แล้วมันผิดตรงไหน ? ครูให้ผ่านมันก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหา แต่ความคิดนี้อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมทำให้เราคิดเองไม่เป็น ไม่มีไอเดียเป็นของตัวเอง ไม่เคารพผลงานของคนอื่น ละเมิดลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ระบบการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการเขียนถอดความของเราค่อย ๆ ขึ้นสนิมและพังในอนาคต
ปัญหาที่จะตามมาแน่ ๆ ก็คือ เมื่อเราเข้าไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นในมหาลัยวิทยาลัย หรือในต่างประเทศที่เขาซีเรียสมากเรื่องการคัดลอกผลงานทางวิชาการ (Academic plagiarism) เราอาจจะต้องปรับตัวหนักกว่าคนอื่น เมื่อต้องทำรายงาน ทำวิจัยจบการศึกษา เพราะของแบบนี้ต้องเริ่มฝึกกันตั้งแต่มัธยมเพราะนักเรียนที่เคยก็อปรายงานไปส่ง ในอนาคตก็ต้องกลายเป็นนิสิตที่ก็อปรายงานไปส่งเช่นกัน
ศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจ
การทำรายงานแต่ละครั้งให้ทำด้วยความเข้าใจจริง ๆ จนเราสามารถที่จะอธิบายประเด็นนั้น ๆ ให้เพื่อนเข้าใจได้ โดยศึกษาจากทั้งในหนังสือและเว็บไซต์หรือจะสอบถามจากคนที่รู้ก็ดี แล้วเราจะสามารถทำรายงานในภาษาที่เป็นของเราได้ โดยที่ไม่ต้องไปก็อปปี้ของคนอื่นมาใช้ ถ้าเราเข้าใจซะอย่าง ใครเขียนไม่เก่งก็ไม่เป็นปัญหาแน่นอน
ใส่ที่มาให้ถูกต้อง แหล่งอ้างอิงให้ชัดเจน
เข้าใจว่าข้อมูลบางอย่างที่เป็นความรู้ทั่วไป เป็นประวัติของบุคคลสำคัญ สูตร คำพูดหรือแคปชั่นต่าง ๆ ที่รู้กันอยู่แล้ว เช่น พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ข่าวประจำวัน คำพิพากษา ฯลฯ หากเราจําเป็นต้องนำข้อความไหนมาใช้ในรายงาน เราต้องใส่อ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจนและอย่าลืมใส่เครื่องหมายคำพูด “...” ตรงข้อความที่คัดลอก และควรที่จะวิเคราะห์ วิจารณ์ เปรียบเทียบในงานเขียนเพิ่มเติมด้วยความเข้าใจของตัวเอง
ฝึกการถอดความ (Paraphrasing)
การถอดความเป็นเรื่องที่ทำได้ในงานเขียน หมายถึงการที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้อ่านอะไรมาก็ตาม แล้วเรานำมาเขียนถ่ายทอดให้เป็นภาษาของตัวเราเอง โดยต้องเพิ่มเติมข้อความใหม่ วิจารณ์ อธิบาย เปรียบเทียบ เพิ่มไอเดียใหม่ที่สัมพันธ์กับข้อความที่เราก็อปปี้มา เหมือนให้แข่งกันแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับที่เหมือนกัน แต่คนเราก็จะแต่งไม่เหมือนกันอยู่ดี ใครที่เก่งเรื่องการถอดความ (Paraphrasing) ในอนาคตก็จะสามารถทำข้อสอบข้อเขียนแทบทุกอย่างได้คะแนนดีแน่นอน
แม้แต่การดูเป็นตัวอย่างหรือ reference ก็ต้องให้เครดิตด้วเหมือนกัน รวมถึงการโควทคำเอาไปพูดต่อก็ต้องใส่เครื่องหมายคำพูดแล้วก็ให้เครดิตด้วยว่ามาจากไหน ฝึกเอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้เราชินกับความถูกต้อง ในอนาคตจะได้เข้าใจเรื่องพื้นฐานในการเขียน และสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองในอนาคตได้มากขึ้น
แหล่งข้อมูล
- Plagiarism สิ่งพิมพ์ วิทยานิพนธ์ การคัดลอกผลงานวิจัย ‘ประเด็นสำคัญที่ควรรู้’
- How to Paraphrase
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป