ยุคนี้เป็นยุคที่แม่ลูกต้องเจอกันครึ่งทาง แม่ต้องฟังลูกและลูกก็ต้องฟังแม่ หันหน้ามาคุยกันให้มากขึ้น
เราเป็นเพื่อนสนิท เป็นทีมเดียวกัน
ให้กำลังใจกันและกัน
เข้าใจกัน ไม่ตัดสินหรือเปรียบเทียบ
ไม่ใช้อารมณ์ ดุ ด่า ลงโทษ วิธีพวกนี้ไม่เวิร์ค
ให้อิสระกันในขอบเขตที่ชัดเจน
ตัวอย่างสถานการณ์ยอดฮิตที่มนุษย์ลูกพบเจอบ่อยจนชาชิน มาเรียนรู้วิธีแก้เกมให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายดีกว่า
“แม่จะหวงอะไรนักหนา ลูกโตแล้วนะ”
แม่บางบ้านคิดว่าลูกเป็นสมบัติของตัวเอง ไม่ยอมไว้ใจที่จะให้อิสระกับเราเต็มที่ คิดว่าการทำให้เราอยู่ภายใต้คำสั่งคือปลอดภัยที่สุด โลกภายนอกโหดร้ายเกินไปสำหรับลูก ส่วนเราอยู่ในวัยที่ต้องการอิสระ อยากรู้อยากลองมากขึ้นเรื่อย ๆ
❌หยุด ❌ มองโลกในแง่ร้าย ขว้างข้าวของ ทำท่าทีขึงขังตึงตัง โวยวายต่อว่าแม่ หรือดื้อเงียบ
⭕ เปลี่ยน ⭕ รักษาคำพูดทุกเรื่อง แม่จะเริ่มเชื่อใจและให้อิสระ จะไปไหน ทำอะไร บอกให้ชัดเจนไว้ก่อน เช่น วันนี้จะไปดูหนังภาคใหม่กลับไม่เกิน 6 โมงเย็นนะแม่
“แม่เลิกบ่นสักทีได้ไหม น่ารำคาญ”
ต้องเข้าใจว่าแม่เราอยู่ในวัยทอง (อายุ 30-50 ปีขึ้นไป) ยิ่งแม่ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จะยิ่งอารมณ์เสียง่าย เราต้องเรียนรู้ว่าคนวัยนี้มักอารมณ์ไม่คงที่ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเป็นปกติ ในขณะที่ตัวเราเองก็เป็นวัยที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยากเช่นกัน ใครใจเย็นได้คนนั้นจะแก้ไขสถานการณ์ได้ดีกว่า
❌หยุด ❌ เถียง ใช้คำพูดแง่ลบ ขึ้นเสียง ทำท่าทางขึงขัง บึ้งตึง
⭕ เปลี่ยน ⭕ ใช้ภาษากายกับแม่ เข้าไปกอด จับมือ ถามความรู้สึก ไม่เอาชนะ เรียนรู้ที่จะใจเย็นให้เป็น
“ไปเลิกกับแฟนเลยนะ ตัวแค่นี้เริ่มใจแตกแล้วเหรอ”
เพราะลึก ๆ แล้วสิ่งที่แม่ทุกบ้านกลัวที่สุดคือกลัวว่าลูกตัวเองจะหมดอนาคตจากเรื่องรัก ๆ ที่แม่ชอบออกตัวแรงก็เพราะอยากปกป้องเรา ในขณะที่เราเข้าสู่ช่วงวัยหมกมุ่นเรื่องเพศตรงข้ามมากขึ้น อยากมีความรัก
❌หยุด ❌ หาทางเอาคืนด้วยการหนีออกจากบ้าน มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน
⭕ เปลี่ยน ⭕ คบกันแบบเพื่อน รักกันแบบเปิดเผยให้แม่รับรู้ ไม่ทิ้งเรื่องเรียน รู้จักป้องกันให้ดี
“ลูกบ้านโน้นเขาเก่งจัง เก่งกว่าลูกอีก”
เพราะการมีลูกที่เก่งสอบติดคณะที่ดี แปลว่าแม่บ้านนั้นทำหน้าที่แม่ได้ดีเยี่ยม และแม่ทุกคนอยากเป็นแม่ที่ดี จึงไม่แปลกที่แม่บางบ้านมักจะเผลอพูดเปรียบเทียบลูกตัวเอง ในขณะที่เราต้องกดดันมากขึ้นเพราะเหน็ดเหนื่อยกับการเรียน
❌หยุด ❌ เกลียดการเรียน โดดเรียน แสดงการต่อต้านหรือก้าวร้าวใส่แม่
⭕ เปลี่ยน ⭕ ฮึดสู้เก็บเป็นแรงผลักดันในการทำสิ่งที่ดี ๆ และถ้าแม่พูดบ่อย ๆ ก็เปิดใจคุยกับแม่ไปเลย
เราควรเลิกที่จะเถียงเอาชนะแม่เพราะมันจะไม่มีวันได้ผล แล้วมาเรียนรู้ที่จะสื่อสารกันอย่างสร้างสรรค์ให้แฮปปี้ดีกว่า
ใช้การพูดเชิงบวก
การพูดแบบ I-Message คือการพูดขึ้นต้นด้วยคำว่า ฉัน/หนู/ผม/ลูก ตามด้วยความรู้สึกหรือสิ่งที่อยากจะพูดจากใจ เป็นเทคนิคการพูดที่ทำให้การสื่อสารชัดเจน ทำให้แม่เข้าใจว่าเราต้องการหรือรู้สึกอย่างไร จากที่เคยพูดกว้าง ๆ ว่า “ใคร ๆ เขาก็ให้ลูกออกไปเที่ยวทั้งนั้น” ลองเปลี่ยนเป็น “ผมขอออกไปเที่ยวกับเพื่อนและจะกลับมาตอน 6 โมงเย็น”
พูดความรู้สึกในใจออกไป
แทนจะที่ยอมทำตามที่แม่ต้องการเพื่อให้เรื่องมันจบ อย่างน้อยเราควรพูดสิ่งที่รู้สึกจริง ๆ ออกไป เช่น “หนูเห็นเลยว่าแม่เป็นห่วง แต่...” “ผมเข้าใจว่าแม่กังวล แต่...” จะทำให้แม่รับรู้ว่าเราเข้าใจความหวังดีของท่าน เราไม่ได้เมินความหวังดีนั้นว่าไม่มีค่า แต่แม่ก็ต้องฟังเราเหมือนกัน
ฝึกพูดแบบผู้ใหญ่
เช่น “ทำไมแม่ถึงอยากให้หนูเรียนหมอ ทั้งที่หนูว่าหนูน่าจะเรียนนิเทศได้ดี คะแนนหนูก็ดีนะ” ลองสังเกตว่าเวลาที่แม่คุยกับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ เขาใช้วิธีการพูดอย่างไร ฝึกใช้ภาษาแบบผู้ใหญ่ มีน้ำเสียงที่ดี สีหน้า ท่าทางที่ดีพร้อมจะรับฟังก็จะยิ่งลดการทะเลาะกัน
เข้าใจว่าแม่ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง
แม่เป็นคนธรรมดาที่ผิดพลาดได้ หลายครั้งท่านอาจพูดไม่ดีทำให้เราเจ็บปวด แต่อยากให้มองลึกลงไปในคำพูดว่านั้นว่าแม่เป็นห่วง เพราะแม่บางคนไม่กล้าแสดงด้านที่อ่อนแอออกมาให้ลูกเห็น เราลองถามแม่ดูก่อนบ้างไหม เช่น “ผมเห็นแม่กลับบ้านมาเหนื่อย ๆ แล้วก็บ่น วันนี้แม่เจออะไรมาหรือเปล่า” บรรยากาศในบ้านก็จะดีขึ้นแน่นอน
แหล่งข้อมูล
- วัยรุ่นจะคุยกับพ่อแม่ยังไงให้เข้าใจ (วิธีการสื่อสารกับผู้ใหญ่ไม่ให้พังพินาศ). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 จาก www.choojaiproject.org
- เคล็ดลับเข้าถึงใจวัยรุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 จาก http://resource.thaihealth.or.th
- พ่อแม่แบบไหนที่ลูกไม่อยากได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 จาก https://aboutmom.co
- นวลฉวี ประเสริฐสุข. 2558. สื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างสุขในครอบครัว (Constructive Communication for Family Happiness) Veridian E-Journal,Slipakorn University/ 2558, ฉบับที่ 8 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558): 737-747.
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป