มันไม่ใช่ถึงขั้นต้องไปพยายามรู้จักคนเยอะ ๆ หรอก ผมว่างานคือคอนเนกชั่นที่สตรองที่สุดแล้ว มันไม่ใช่การตะบี้ตะบันออกไปทำความรู้จักคนในวงการให้ได้มากและเยอะที่สุด แต่มันคือการทำงานทุกงานให้มันดีในทุกวัน เพราะการทำงานให้ดีในแต่ละชิ้นนั่นคือการขวนขวายแล้วนะ ให้งานมันบอกว่าเราทำอะไรได้บ้าง แล้วมันจะมีคนเข้ามาหาเราเอง เขาดูจากงาน เขาไม่มาดูหรอกว่าเราเป็นคนยังไง เปรี้ยว ซ่า ก๋ากั๋นไหม หรือเราเป็นเพื่อนเขาไหม อย่าไปกลัวว่าถ้าเราไม่รู้จักใครเลย เราคงเป็นนั่นเป็นนี่ไม่ได้ เพราะงานที่เราทำนั่นแหละจะพาเราไปรู้จักคนเอง
อาชีพผู้กำกับหรือทำหนังสมัยนี้ มันไม่ได้ไกลตัวหรือให้ความรู้สึกเหมือนเราต้องปั้นอนุเสาวรีย์ยิ่งใหญ่แล้วนะ เพราะเราโตมากับยูทูบ อุปกรณ์ที่คุณภาพดีก็ถูกลง ทุกอย่างอำนวยให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาในวงการภาพยนตร์มากขึ้น แต่เทคนิคเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเล่าเรื่องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่อาจจะยังขาดกันอยู่คือ อยากจะเล่าอะไร เพราะทุกคนทำเป็นหมด แต่ใครจะเล่าเรื่องได้เก่งที่สุดถ้าเริ่มจากศูนย์เท่ากัน เช่น มีเงินให้เท่านี้จะเล่าเรื่องอะไร จะจบยังไง หนังจะบอกอะไรคนดู การเล่าเรื่องน่าจะเป็นสกิลหนึ่งที่คัดคนได้ และ 70% ของการทำหนังขึ้นอยู่กับการเล่าเรื่อง เพราะทำหนังเรื่องหนึ่งมันไม่ใช่แค่ต้องถ่ายเป็น ตัดต่อเป็น แต่มันคือทำยังไงด้วย คุณจะกำกับยังไง จะเขียนบทยังไง จะเล่ายังไง มันต้องศึกษาหาความรู้เรื่องภาพยนตร์และการใช้ชีวิตต่าง ๆ ในชีวิตด้วยถึงจะทำออกมาได้ดี
ก็ยังไม่พอครับ เราต้องรู้จักคัดกรองและเลือกสิ่งที่ได้จากชีวิตที่ดีนั้นมาเล่าด้วย มันไม่ใช่ว่าเราใช้ชีวิตให้ดี แล้วเราจะทำหนังให้ดีได้เลย เพราะเราไม่ได้เอาชีวิตที่ดีทั้งหมดมาอยู่ในหนัง เราต้องคัดเลือกประสบการณ์บางอย่างมาเล่า เช่น เรื่องฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ผมก็มาเอามาจากชีวิตจริงนะ แต่ผมก็ไม่ได้เล่าทุกอย่าง เมคขึ้นมาบ้างเพื่อความสนุก มันเป็นเรื่องของการเลือกทรัพยากรในชีวิตมาใช้ เลือกสถานการณ์ในชีวิตมาใช้ แล้วเอามาต่อกันให้เป็นงานที่ดีหนึ่งชิ้น
เดี๋ยวนี้เวลาทำหนังสักเรื่อง เหมือนเราต้องหาองค์หลวงพ่อยึดเหนี่ยวในใจเลยนะ ยิ่งเราทำหนังประหลาด ๆ ไม่ปกติเท่าไหร่ยิ่งต้องมีหลักการประจำใจ ผมคิดว่าการจะหลุดพ้นอะไรแบบนี้ได้เราต้องไม่หวังที่จะเป็นอย่างอื่นที่ใหญ่กว่าแต่ไม่ใช่ตัวเรา อย่างถ้าผมหวัง 100 ล้านขึ้นมาผมก็จะ Suffer มาก เพราะผมไม่ใช่แบบนั้น แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีคุณค่าหรือพื้นที่ของมันนะ มันมีกลุ่มคนที่ดูอยู่ ผมเลยรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องยึดไว้ไม่ให้ลืมว่าทำไปเถอะ มันยังมีคนดูอยู่นะ ถึงจะไม่ได้มหาศาลทั้งประเทศ แต่มันก็เยอะพอที่จะทำให้เราทำต่อไปเรื่อย ๆ ผมจึงไม่มีเป้าหมายว่า วันหนึ่งผมจะไปคานส์ วันหนึ่งผมจะไปออสการ์ ผมจะคิดแค่ว่า ถ้าปีหน้าได้ทำหนังผมก็ดีใจมากแล้ว เหมือนสืบเนื่องมาจากการทำหนังเรื่อง Die tomorrow ว่าถ้าพรุ่งนี้ตายไป มันก็จบแล้วนะ เพราะงั้นถ้าวันหนึ่งเราจะตาย เราก็ขอให้งานที่เราทำเป็นงานที่เราสบายใจกับมันที่สุด
ไม่มีหน้าที่ไหนง่ายนะผมว่า อย่างผู้กำกับก็ยากเหมือนกัน เวลาทำหนังสักเรื่องนอกจากจะต้องจัดการให้ดีแล้วเราก็เสียเวลาชีวิตในส่วนอื่นไปด้วย เพราะเวลาทำหนังหนึ่งเรื่องมันเหมือนเราเอาอายุ 1 ปีของเราไปแลกเลยนะ มันจะหายไปเลย แป๊บเดียวหมดปี แต่เวลาสำเร็จสปอร์ตไลท์ก็จะส่องมาที่เรา แต่เวลาไม่โอเค มันก็มืดมากเลยนะ โดดด่าก็เราก่อนเลย คนอื่นเขาก็ซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง ถ่ายเสร็จเขาก็ไปทำอย่างอื่นต่อ แต่เราผู้กำกับต้องอยู่ต่อจนจบ
เดี๋ยวนี้ก็มีตากล้องที่จะชัดมาก Editor ก็ชัด เขียนบทก็กำลังมานะ สมัยก่อนตำแหน่งเขียนบทเหมือนเป็นจุดเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็น ทั้งที่คนเขียนบทเป็นกระดูกสันหลังของหนังเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้อาชีพเบื้องหลังถูกขีดเส้นใต้ให้เด่นขึ้นมาเยอะเหมือนกัน เช่น คนจัดไฟ คนทำสี แต่ไม่ใช่ว่าตำแหน่งอื่นจะง่ายกว่าการเป็นผู้กำกับนะครับ ทุกตำแหน่งไม่ได้มีอะไรง่าย
ถ้าพูดในมุมของผู้กำกับต่อตำแหน่ง Catering (ตำแหน่งที่ดูแลเรื่องน้ำและอาหารในกองถ่าย) ถ้าไม่มีคนเอาน้ำ เอาอาหารมาให้ ผู้กำกับอาจจะไม่ได้ดื่มน้ำเลยทั้งวัน เพราะเราต้องจดจ่ออยู่ที่หน้ามอนิเตอร์และมีสมาธิมาก แต่ถ้ามีคนเอามาตั้งไว้ให้เราเห็น เราจะนึกได้ว่าต้องดื่มน้ำบ้าง ต้องกินอาหารบ้าง ถ้าไม่มีเขา เราก็อาจจะป่วยไม่รู้ตัว ผมถึงได้บอกว่าทุกหน้าที่มันเชื่อมโยงกันหมด มีความสำคัญหมด
ไม่มีทาง ในกองถ่ายมันจะมีตำแหน่งที่เรียกว่า Production Manager (PM) คือคนที่ทำหน้าที่จัดการให้การถ่ายหนังราบรื่น ซึ่งเวลามันราบรื่นเราจะไม่รู้ตัวเลย เพราะว่ามันราบรื่นไง มันจะโฟลว์ไปเรื่อย ๆ สมมติปวดฉี่ มองออกไปก็รู้ว่าห้องน้ำอยู่ไหน การวางมอนิเตอร์ตรงไหนดีที่สุด เดินเข้าไปบรีฟนักแสดงแล้วเดินออกมาได้ง่าย ไม่บังกล้องเลย ไม่ชนข้าวของเสียหาย หรือบางทีเราเห็นไอ้นั่นมันเดินไปเดินมาทั้งวัน แต่จริง ๆ เขากำลังจัดการบางอย่างให้เราอยู่ เอาเก้าอี้มาตั้งให้เรา พอเราไปถึง เอนตัวลงเราก็นั่งได้เลย มันเป็นจุดที่เล็กมาก ๆ แต่ก็รันทุกอย่างให้มันราบรื่นไปได้ด้วยดี
อันดับแรกนะ ผู้กำกับต้องต่อสู้กับธรรมชาติก่อน ทั้งธรรมชาติของคนที่ก็จะมีอารมณ์ความรู้สึก ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วก็ไปต่อสู้กับธรรมชาติของดิน ฟ้า อากาศ แสง และเวลา ระหว่างการถ่ายหนังมันจะมีความบ้าบอเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น วันนี้ปิดถนนถ่าย แต่ถ่ายไปถ่ายมาเขาไม่ให้ปิดแล้วด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เขาไม่สนด้วยว่าเราเป็นใคร ต่อให้เรามีเงินก็บอกให้เขาปิดถนนอีกไม่ได้ หรือเราคิดมาแล้วว่าเราทำสิ่งนี้ในกระดาษ แล้วมันจะจบเป็นสิ่งนี้ในจอภาพยนตร์ แต่เมื่อถ่ายจริงมันจะถูกเฉือนไปเรื่อย ๆ นี่ถ่ายไม่ได้ นั่นถ่ายไม่ทัน ดาราไม่มีคิวแล้ว นักแสดงวิ่ง ๆ อยู่แล้วเป็นตะคริวเฉยเลยถ่ายต่อไม่ได้ หรือมีเวลา 1 ชั่วโมงต้องถ่าย 40 ช็อต แต่ฝนดันตก เราก็ต้องเหลือ 30 ช็อต แล้วจะเอาอันไหนออกล่ะ ตรงนี้จะชัดมากว่าเราต้องตัดสินใจแล้วทำให้มันราบรื่น
แล้วเวลาที่เกิดเรื่องบ้าบอแบบนี้ขึ้นนะ ทุกคนในกองก็จะหันหน้ามาทางเราแล้วถามว่า เราจะเอายังไง เป็นทุกครั้งเลย ทุกคนจะรอคำตอบจากเราหมดเพื่อที่จะทำต่อไป ไอ้ที่วางมาแล้วอย่างดีก็อาจพังได้ง่าย ๆ ตั้งแต่หัววันเลยก็ได้ แต่เราพร้อมเจอสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ ถ้าเราจัดการได้ดีก็อาจจะเกิดน้อยหน่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราจัดการดีจะทำให้ไม่เกิดปัญหาอะไรเลย
อาจจะเป็น Die tomorrow มั้ง มันเหมือนเราได้กลับไปทำงานกับเพื่อนในวัยที่โตแล้วและเก่งขึ้นกันทุกคน หนังเรื่องแรกของเรามันยังมีความยากลำบากนิดหนึ่ง พอ Die tomorrow มันเป็นเรื่องที่ 5 ของเรา และเป็นหนังที่เราได้กลับไปทำเล็ก ๆ เหมือนตอนที่เราเริ่มทำหนังตอนแรก มันเลยสบาย ๆ ไม่มีความเครียดอะไร เหมือนไปเที่ยวเล่น ไปปิกนิก นักแสดงเราก็รู้จักมานาน ก็เลยเป็นกองที่ค่อนข้างถ่ายทำสนุก ตอนฉายก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้หวังว่าจะได้กำไรมหาศาล เป็นงานที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา มันดีในระว่างที่ทำและโอเคในระหว่างที่ฉาย ผมว่านี่เป็นโมเดลที่ดีของการทำงานทุกงานเลยนะครับ มนุษย์เราควรได้มีโอกาสทำงานแบบนี้บ้าง
(นิ่งคิด) อาจจะเป็นตอนที่ผมบอกว่ามันมีบางอย่างบังเอิญเกิดขึ้นแล้วมันพอดีมาก ๆ ทุกคนในกองถ่ายจะอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าใครทำหน้าที่อะไรอยู่ เขาจะวางมือแล้วเดินมาที่จอมอนิเตอร์เพื่อที่จะดูว่าเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น มันคือจังหวะที่พอดี สมมติว่านักแสดงพูดอะไรกันอยู่ นักแสดงเอเล่นดีมาก นักแสดงบีเล่นดีเหมือนกัน แล้วเขาหันไปทางซ้ายน้ำตาไหลพอดี แสงก็เข้า กล้องจับภาพนั้นได้ จังหวะมันพอดีเป๊ะ หรือเราไม่ได้บรีฟให้นักแสดงร้องไห้เลย แต่เขาเล่นไปเล่นมาแล้วอินมาก มันเป็นเรื่องของการแสดงที่พอเหมาะพอดี การบันทึกภาพอะไรพวกนี้ได้มันถึงทำให้คนในกองรู้สึกดีไปด้วยกัน ทุกคนในกองจะประมาณว่าแจ๋ววะ ทำได้ด้วยเหรอ เพราะมันคือที่สุดของความกำกับไม่ได้ เวลาบันทึกอะไรแบบนั้นได้มันจะเสพติด อยากได้อีกเรื่อย ๆ (หัวเราะ)
อันนั้นเหมือนเป็นโมเมนต์ที่พิเศษมากกว่า เวลาที่เราเอาหนังไปฉาย แล้วคนดูเขาได้อะไรบางอย่างไม่มากก็น้อยจากหนังของเรา มันมีหลายครั้งที่มีคนส่งข้อความมาบอกว่าหนังเรามันช่วยเขาได้ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี พวกนี้คือ The Magic Hours ของคนทำหนัง เพราะอย่างที่บอก เรากะเกณฑ์อะไรไม่ได้เลยว่าหนังเรื่องนี้ของเราจะดีไหม เพราะมันเป็นหนังที่เราทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น โดยส่วนตัวเราไม่ได้คิดจริง ๆ ว่าคนจะชอบงานเราขนาดนั้น มันเลยรู้สึกดีที่สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่าสำหรับบางคน เอาจริง ๆ ผมว่าผู้กำกับเป็นอาชีพที่อยู่กับความไม่มั่นใจตลอดเวลา ดังนั้นมันคงไม่เหงาเกินไปสำหรับคนทำหนัง ถ้ามีคนชอบ
บางครั้งมันไม่ได้มาเป็นข้อความชมว่าเราเก่งจังอะไรแบบนี้หรอก แต่มันคือ เวลาที่เขาดูหนังเราแล้วเขานึกถึงชีวิตของตัวเอง นึกถึงใครสักคนที่เข้ามาในชีวิตเขา นึกย้อนเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตเขา แค่นั้นผมก็ดีใจมากแล้ว ผมจะรู้สึกดีเวลาเราทำงานแล้วมันไม่ได้จบกันไปแค่ที่โรงหนังแต่มันมีอยู่กับเขา เพราะเราก็ชอบหนังแบบนั้น หนังที่เราดูแล้วค้างไปอีก 3 ปี เรารู้สึกว่าหนังพวกนี้ดี แต่ว่ามันก็แล้วแต่คนจะชอบนะ เราไม่ได้มีหนังดีเรื่องเดียวกันทุกคน แต่เราแค่รู้สึกว่า พอย้อนกลับไปในฐานะคนทำหนัง ถ้าหนังที่เราทำมันไปอยู่กับใครสักคนหรือมันไปอยู่ในใจของเขาบ้างก็คงดี
นอนหลับมั้งครับ เพราะคนที่ทำงานพวกนี้คือจะนอนไม่ค่อยหลับ เราจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าหนังเราจะดีกว่านี้ได้อีกไหม แต่เดี๋ยวนี้ผมดีขึ้นมากแล้วนะ เพราะผมรู้จักเบรก แปลกดีเหมือนกันที่พอทำไปสักพัก การรู้จักเบรกตัวเองหรือรู้จักหยุดตัวเองจากงานกลับเป็นสกิลที่ต้องฝึกเฉยเลย ตอนเป็นวัยรุ่นเรายังคิดไม่ได้แบบนี้หรอก ต้องเคี่ยวตัวเองมากกว่านี้ เราต้องไปให้สุด ทำตลอดเวลา มีไอเดียตลอดเวลา เพราะตอนนี้เราแก่ขึ้นด้วยมั้ง ก็เลยคิดได้ว่าการเบรกตัวเองจากงาน มันเป็นสกิลการทำงานอย่างหนึ่ง คือไม่งั้นเราจะตายครับ การคิดตลอดเวลาไม่ได้ช่วยให้งานดีขึ้น บางทีการไปนอนนั่นแหละจะทำให้เราคิดได้เร็วขึ้น บางวันตื่นมาคิดออกเลย โดยที่ไม่ต้องคิดด้วยซ้ำ มันต่อเนื่องมาจากตอนที่ผมทำหนังเรื่อง Die Tomorrow คือเราคิดถึงเรื่องความตาย แต่ไม่ได้คิดให้กลัวหรือเป็นกาลกิณีต่อตัวเองนะ แต่คิดในแง่ของคุณค่าในสิ่งที่เราทำอยู่ ถ้าพรุ่งนี้เราไม่อยู่แล้ว มันก็โอเคนะ เพราะหนังที่ฉายไปทุกเรื่องมันก็โอเคกับเรามาก ๆ แล้วเราจะเอาอะไรอีก
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพ : ประวีร์ จันทร์ส่งเสริม
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป