สิทธิมนุษยชน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-17 21:29:03
สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิด และการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แม้ว่าโดยหลักการแล้ว สิทธิมนุษยชนไม่สามารถถูกพรากไปได้ แต่บางครั้ง สิทธิมนุษยชนอาจถูกจำกัดได้เช่นกัน เช่น เมื่อมีการทำผิดกฎหมาย หรือกระทำการที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ความมีศักดิ์ศรี ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเคารพ และความเป็นอิสระ
สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มีคุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งได้รับการยอมรับโดยประชาคมโลก ดังนี้
1. มีความเป็นสากล คือ สิทธิมนุษยชนเป็นของมนุษย์ทุกคน
2. พรากไปไม่ได้ คือ สิทธิมนุษยชนไม่สามารถถูกพรากไปได้
3. ไม่สามารถแบ่งแยกได้ เพราะสิทธิทุกสิทธิล้วนเกี่ยวข้องกัน คือ รัฐบาลไม่สามารถเลือกที่จะเคารพสิทธิใดสิทธิหนึ่งได้ สิทธิทุกสิทธิต้องได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน
ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ทำให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันในการปฏิบัติตามปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมไปถึงข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับโลก โดยองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ได้ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้หลายมาตราด้วยกัน เช่น ในมาตรา 4 นั้นระบุว่า
“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”
และในหมวดที่ 3 ซึ่งเป็นหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตราที่ 25 ถึง 49 ยังได้บรรยายขอบเขตของสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายด้านด้วยกัน เช่น ความยุติธรรมทางอาญา การศึกษา การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการแสดงออก การไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ