www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > เศรษฐศาสตร์ > ม.3

รัฐบาลกับเศรษฐกิจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-17 20:50:08

รัฐบาลมีหน้าที่ และบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ จัดสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ให้กับประชาชน และรักษาความมั่นคงของประเทศ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับอิทธิพลจากภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้สภาวะทางเศรษฐกิจอ่อนไหว ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคง ทำให้การพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาเป็นช่วงเวลานานก็ตาม แต่เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศก็เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ภาพ : shutterstock.com

 

ความหมายของภาครัฐในที่นี้ หมายถึง รัฐบาลในระดับต่างๆ จากระดับชาติไป จนถึงระดับท้องถิ่น รัฐบาลหรือภาครัฐบาล จึงหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่อภิบาลรัฐในทุกระดับในระบบเศรษฐกิจนั้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าระดับใดๆ นั้นมีอะไรบ้าง และบทบาทหรือผลกระทบเป็นอย่างไรจากการมีอยู่ของรัฐบาล

บทบาทและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาล มีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการให้ประชาชนได้รับสวัสดิการมากที่สุด โดยคำนึงถึงส่วนรวมของประเทศ การกำหนดนโยบายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนรวม โดยรัฐบาลมีบทบาทและกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้า และบริการสาธารณะที่เอกชนไม่สามารถดำเนินการเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น กิจการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน เป็นต้น โดยกิจการดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ผลิตรายเดียวมากกว่าผู้ผลิตหลายราย การผลิตสินค้าข้างต้นจึงมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ การผลิตสินค้าสาธารณะและกึ่งสาธารณะ สินค้าสาธารณะเป็นสินค้าที่ไม่สามารถกีดกันผู้อื่นบริโภคได้ เมื่อมีผู้บริโภคจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภครายอื่น เช่น รายการวิทยุ โทรทัศน์ การเก็บขยะมูลฝอยของเทศบาล การผลิตสินค้าที่เป็นคุณประโยชน์ สินค้าที่เป็นคุณประโยชน์ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงโดยตรง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล เป็นต้น 

บทบาทในการเก็บภาษีเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ โดยทั่วไปทุกรัฐบาลมีบทบาทการจัดเก็บภาษีเพื่อหารายได้เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินกิจการต่างๆ ในสังคม เพื่อเป็นการให้บริการแก่ประชาชนและส่วนรวม บทบาทการแทรกแซงราคา และควบคุมราคา เพื่อการแจกจ่ายและการจัดสรรในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสินค้าบางชนิดราคาไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เพราะเมื่อปริมาณผลิตเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ราคาจึงไม่เสถียรภาพ ผู้ผลิตจึงอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ เช่น การผลิตข้าว พืชผลทางการเกษตร เมื่อผลผลิตออกมามาก ราคามักจะตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน รัฐจึงต้องเข้าไปพยุงราคา หรือประกันราคาสินค้าเกษตรมิให้ตกต่ำเกินไปเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นแนวทางหรือกรอบในการบริหารประเทศทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นต้น นโยบายการผลิตเป็นนโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิต การจัดสรรการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในการจัดสรร ให้ผลตอบแทนจากการผลิดได้กระจายไปสู่เจ้าของปัจจัยของการผลิตอย่างเป็นธรรม การเพิ่มศักยภาพในการผลิต โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ