www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > เศรษฐศาสตร์ > ม.3

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-17 20:31:01

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทรัพย์สินต่างๆ ที่ตนหามาได้ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ แต่เสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินการใดๆ จะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคา และระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจะมีหน้าที่เพียงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการป้องกันประเทศ

ภาพ : shutterstock.com

 

ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม กลไกราคา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระดับราคาสินค้าและบริการ ซึ่งเกิดจากแรงผลักดันของอุปสงค์ และอุปทาน เมื่อผู้ผลิตพยายามปรับปรุงการผลิต และบริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น จะเห็นได้ว่าราคาสินค้า และบริการ เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดอุปสงค์ และอุปทาน ตลอดจนเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนราคาให้เข้าสู่จุดดุลยภาพ

กลไกราคาจะพบได้ในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแบบผูกขาด เพราะกลไกราคาจะเกิดได้เฉพาะตลาดที่มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะของตลาดเสรี หรือประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือเสรีนิยม หรือระบบเศรษฐกิจแบบผสมเท่านั้น โดยระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ จะมีกลไกราคาเป็นตัวกำหนดว่าจะผลิตสินค้าปริมาณเท่าใด และราคาเท่าใด

    

การกำหนดราคาสินค้าและบริการในทางเศรษฐกิจ ทำได้ 2 วิธีคือ

1. ให้กลไกราคาเป็นเครื่องมือในการกำหนดราคาสินค้า และบริการ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามแรงผลักดันของอุปสงค์และอุปทาน

2. รัฐบาลกำหนดราคาสินค้าและบริการ ด้วยการควบคุม และแทรกแซงราคาสินค้าและบริการ ด้วยวิธีกำหนดราคาเมื่อสินค้าที่จำเป็นขาดตลาดเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค การประกันราคาขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิต การพยุงราคาสินค้าไม่ให้ตกต่ำมากเกินไปเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตหรือผู้ขายไม่ให้ขาดทุน

ภาพ : shutterstock.com

 

กลไกราคาทำงานโดยได้รับอิทธิพลจากทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้ว่า ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง ถ้าปริมาณความต้องการ หรือปริมาณอุปสงค์ต่อสินค้าในตลาด มีมากเกินกว่าปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตจะยินดีขายให้ ราคาสินค้าก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนของสินค้า แต่ถ้าปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตประสงค์จะขายให้ผู้บริโภค หรือปริมาณอุปทานของสินค้า มีมากกว่าปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคประสงค์จะซื้อ ราคาสินค้านั้นก็จะมีแนวโน้มลดต่ำลง เมื่อปริมาณอุปสงค์และปริมาณอุปทานเท่ากัน ราคาสินค้าจึงจะอยู่นิ่ง หรือที่เรียกว่ามีเสถียรภาพ ราคาจะไม่ปรับขึ้นลงอีกยกเว้นว่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ตลาดต้องเปลี่ยนแปลงไป



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ