www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม > ม.3

พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-15 18:57:35

เศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยคำว่า “เศรษฐกิจ” หมายความว่า การประกอบกิจการงานเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่าย จ่าย แจก การบริโภค และการใช้สอยสิ่งต่างๆ ให้ได้ผลดี ส่วนคำว่า “พอเพียง” หมายถึง ความเหมาะสมหรือความพอดี เน้นการผลิต และการบริโภคแบบพออยู่พอกินเป็นหลัก และเมื่อรวมกันจึงได้ความว่า การผลิตจำหน่าย และบริโภคอย่างพอเหมาะพอดี ซึ่งตรงกับหลักการทางสายกลาง หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ในศาสนาพุทธ

ภาพ : shutterstock.com

 

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อแสวงหาทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจให้กับสังคมไทย ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ “การที่พึ่งตนเองได้” และปฏิบัติตนในทางสายกลาง

 

หลักมัชฌิมาปฏิปทา (การปฏิบัติตนในทางสายกลาง)

มัชฌิมาปฏิปทาในทางพุทธศาสนา หมายถึง ทางสายกลาง เป็นหลักคำสอนที่ปรากฏในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้า คุณค่าขั้นสูงสุดของหลักมัชฌิมาปฏิปทา เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ และยังเป็นไปเพื่อการดำเนินชีวิตให้เกิดความพอดี เป็นแนวทางของการแก้ทุกข์ที่เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ 8” โดยมุ่งเน้นให้มีความสุขกายและสุขใจไปด้วย ดังนี้

 

1. สัมมาทิฏฐิ คือ การมีความเห็นหรือทรรศนะที่ถูกต้องดีงาม

2. สัมมาสังกัปปะ คือ การคิดแต่ในทางกุศลดีงาม

3. สัมมาวาจา คือ การพูดแต่ในสิ่งที่ดีงาม

4. สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำแต่ความดีงาม

5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริต ไม่คดโกงเอาเปรียบ

6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในกุศลกรรม

7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ

8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ อยู่เป็นปกติ

ภาพ : shutterstock.com

 

ความสอดคล้องของหลักเศรษฐกิจพอเพียง กับหลักธรรมในพุทธศาสนา

เศรษฐกิจพอเพียงเน้นความเป็นเศรษฐกิจแบบองค์รวม กล่าวคือ เป็นระบบการพัฒนาชีวิตของปัจเจกชน ควบคู่กับการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยจริยธรรม คือ ความเมตตา ความเกื้อกูลสงเคราะห์ ความสามัคคี ความไม่เห็นแก่ตัว กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบมัชฌิมา ที่มีสัมมาอาชีวะเป็นหัวใจสำคัญ ที่มุ่งพัฒนาทั้งคน และทั้งกระบวนการทางเศรษฐกิจ

ถ้าคนไทยปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะ “เศรษฐกิจงอกงาม ธรรมงอกเงย คนก็มีความสุข” ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ไม่มุ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และฝึกให้มนุษย์ตระหนักรู้ ถึงศักยภาพในความสามารถที่พึ่งพาตนเองได้ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” คือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ