www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภูมิศาสตร์ > ม.3

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยได้รับจากทวีปอเมริกา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-10 22:08:50

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกา ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะต่อประเทศภายในทวีปเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงประเทศไทย ที่อยู่คนละด้านของโลกอีกด้วย ผลกระทบเหล่านั้น แบ่งเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ผลกระทบจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ภาพ : shutterstock.com

 

 

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา

ทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเนื่องจากความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของทวีปอเมริกาเหนือ และการตัดไม้ทำลายป่าในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ก๊าซเรือนกระจกถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้น และทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหลายด้าน

ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่ประเทศไทยได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาใต้โดยตรง ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นเมื่อลมค้าตะวันออก ที่นำฝนเข้ามาสู่ประเทศไทยอ่อนแรงลง และพัดอยู่เหนือน่านน้ำชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ของประเทศชิลี และเอกวาดอร์ในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้สองประเทศนี้มีฝนตกชุก ส่วนประเทศไทยที่อยู่ด้านชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ขณะที่ปรากฏการณ์ลานีญามีลักษณะกลับกันกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุก จนเกิดอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่

 

ผลกระทบจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่กำลังพัฒนา จึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-5 ของประเทศไทย มีแนวคิด และวิธีการมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และสนับสนุนให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง แต่ภายหลัง ได้มีแผนพัฒนาฉบับที่ 8-10 ที่ใช้แนวคิด และหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูให้มีสภาพที่ดีมากขึ้น

 

ผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ โดยมีทั้งผลดี และผลเสีย

ผลดี เช่น การผลิตเอทานอลในประเทศบราซิล ทำให้ภาครัฐของไทยมีการตื่นตัวในการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์แทนน้ำมัน การร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกา ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการนำชีวมวล มาผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงตั้งแต่ พ.ศ. 2549 มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอินทรีย์ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยได้รับความสนใจมากขึ้น

ส่วนผลเสีย ก็เช่น ในร่างกฎหมาย America Clean Energy and Security Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดสินค้าบางประเภท ที่มาจากประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีผลต่อประเทศไทยในด้านของการนำเข้า และการส่งออกสินค้าจำนวนมาก

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ