www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม > ม.2

กระบวนการในการร่างกฎหมายและพระราชบัญญัติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-09 22:15:27

กฎหมาย เป็นกติกาของการอยู่ร่วมกันในรัฐ มีลักษณะเป็นข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในรัฐ และระหว่างบุคคลกับรัฐ เป็นข้อบังคับให้บุคคลกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน และข้อห้ามไม่ให้บุคคลกระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ผู้อื่นหรือสังคมโดยรวม ซึ่งกฎหมายมีความแตกต่างจากบทบัญญัติอื่นๆ ของสังคม เช่น จารีต ประเพณี ศีลธรรม และจรรยาบรรณ ตรงที่กฎหมายเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นโดยผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านกระบวนการในการร่างกฎหมาย โดยมีบทลงโทษหากบุคคลฝ่าฝืนข้อห้าม หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ และมีกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบ คือ ระบบงานยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนคือ การสืบสวน สอบสวน และจับกุม เป็นหน้าที่ของตำรวจ การฟ้องคดี และการดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของอัยการ และทนายความ การพิจารณาพิพากษาคดี เป็นหน้าที่ของศาล และการปฏิบัติตามคําพิพากษา เป็นหน้าที่ของกรมคุมประพฤติและกรมราชทัณฑ์

ภาพ : shutterstock.com

 

การร่างกฎหมาย

กระบวนการในการร่างกฎหมายนั้น มีความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นต้นธารแห่งความยุติธรรมในรัฐ เป็นด่านแรกของการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ขั้นตอนการร่างกฎหมายโดยคร่าวๆ สามารถสรุปได้เป็น 4 ขั้นตอนคือ

1. เสนอญัตติ หรือยกร่างกฎหมาย
2. พิจารณาร่างกฎหมาย
3. ตรากฎหมาย
4. ประกาศใช้กฎหมาย

 

การร่างพระราชบัญญัติ

ตัวอย่างในการพิจารณาถึงกระบวนการร่างกฎหมาย เช่น กระบวนการร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากเป็นลำดับแรก รองลงมาจากรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา กระบวนการในการตราพระราชบัญญัติ สามารถพิจารณาได้โดยขั้นตอนดังนี้

1. การเสนอร่างพระราชบัญญัติ

ผู้ที่มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อกันร่วมแสดงความจำนงในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ หรือคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคการเมืองที่สังกัดมีมติให้เสนอได้ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองเดียวกัน ลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

ผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ รัฐสภา โดยเริ่มต้นนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะนำเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาโดยแบ่งออกเป็น 3 วาระคือ

    - วาระที่ 1 รับหลักการ
    - วาระที่ 2 แปรญัตติ
    - วาระที่ 3 ลงมติให้ความเห็นชอบ

3. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา

หากร่างพระราชบัญญัติได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะส่งร่างดังกล่าวให้กับวุฒิสภาต่อไป จากนั้น วุฒิสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมา โดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน 

ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ถ้าไม่เสร็จ ที่ประชุมอาจลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้อีก 30 วัน หากไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าวุฒิสภานั้นมีความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติที่ถูกส่งขึ้นมาโดยหลักการ

ในขณะที่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน และวุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 20 วัน ถ้าไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือเป็นการเห็นชอบในลักษณะเดียวกัน

ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ภายหลังผ่านไป 180 วัน แต่ถ้าหากเป็นพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน ให้สามารถยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ทันที และเมื่อส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรแล้ว และสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติฉบับเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

4. การตราร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 20 วัน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

แต่หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และพระราชทานคืนมาที่รัฐสภา หรือหากพ้น 90 วันแล้ว ยังมิได้พระราชทานคืนมาก็ตาม รัฐสภาจะต้องปรึกษากันเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ และถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่ง และถ้าหากพ้น 30 วันไปแล้ว พระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้โดยเสมือนหนึ่งว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

5. การประกาศใช้พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ