www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > เศรษฐศาสตร์ > ม.2

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเอเชีย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-09 21:17:14

การพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียนั้น มีทั้งการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ หรือการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการทางเศรษฐกิจ

ภาพ : shutterstock.com

 

ในแง่ของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างกันนั้น ปรากฏอยู่ในรูปของ การสร้างกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างกัน การพึ่งพากันในลักษณะนี้ หมายถึง การมีความสามัคคีกันในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองของคู่ค้าในอีกฝ่ายหนึ่ง

และนอกจากนั้น การพึ่งพาดังกล่าวนั้น อาจจะหมายถึงการพึ่งพาระหว่างกันและกันของประเทศในกลุ่มเอเชีย เนื่องด้วยการมีความแตกต่างในเรื่องของทรัพยากรวัตถุดิบ หรือแม้กระทั่งทรัพยากรมนุษย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาวิชาที่ต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวเทียบเท่า ดังนั้น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกใต้จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพา และอาศัยความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น ในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ และเทคโนโลยีในลักษณะต่างๆ ในทางกลับกัน ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอาจจะมีทรัพยากร หรือสินค้าทางการเกษตร หรือสินค้าทางอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น งานฝีมือ ซึ่งประเทศในภูมิภาคอื่นของเอเชียไม่มีความสามารถในเรื่องนี้ ประเทศต่างๆ ในเอเชียจึงต้องหาความรู้ความสามารถในวิทยาการความรู้ดังกล่าวเข้ามา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้

ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ในเชิงแข่งขันระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ย่อมเป็นหนึ่งในรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ในเชิงการแข่งขันดังกล่าว ถูกแสดงออกมาในรูปแบบของนโยบายทางการค้าแบบคุ้มกัน หรือแบบกีดกันระหว่างประเทศต่างๆ เนื่องด้วยการกลัวว่า หากปล่อยให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยปราศจากเงื่อนไขแล้ว ย่อมจะส่งผลให้ดุลการค้า และดุลการชำระเงินของประเทศต่างๆ เกิดสภาวะติดลบ และมีปัญหาต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจได้ 

หรือในอีกมุมหนึ่ง ความสัมพันธ์ในเชิงแข่งขันอาจจะถูกพิจารณาได้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสวงหาตลาดเพื่อระบายสินค้า และผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งในภูมิภาคดังกล่าวมีผลผลิตในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน การแข่งขันในแง่นี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันในเชิงการกระจายสินค้า และบริการที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคพยายามแสวงหาฐาน หรือกลุ่มลูกค้าเพื่อรองรับกับจำนวน และปริมาณของผลผลิตหรือทรัพยากรดังกล่าว

กระนั้น กระบวนการทางเศรษฐกิจย่อมต้องดำเนินไป โดยวางอยู่บนกรอบความสัมพันธ์อย่างสมดุล ระหว่างแนวคิดเรื่องการแข่งขัน และการพึ่งพาของประเทศต่างๆ ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ                                             

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ