ระบบเศรษฐกิจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-09 21:04:00
ในโลกของเรานั้น มีระบบเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ 3 แบบ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบผสม ความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจทั้งสามประการนั้น อาจจะมีรากฐานอยู่ที่ความสัมพันธ์ของรัฐและเอกชน ในการดำเนินกระบวนการทางเศรษฐกิจ อีกทั้งอาจจะรวมไปถึงบทบาท และสถานภาพของความเป็นเจ้าของทรัพยากรการผลิตที่แตกต่างกันในระบบเศรษฐกิจทั้ง 3 ระบบ
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับพลเมือง หรือเอกชน ในฐานะเจ้าของปัจจัยการผลิต ในระบบนี้ รัฐอาจจะสามารถเล่นบทบาทเป็นกรรมการคุมกฎ กล่าวคือ เป็นผู้ดูแลให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจนั้น ดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้ผู้กระทำผิด และหากพบผู้กระทำผิดในกระบวนการทางเศรษฐกิจ รัฐก็มีสิทธิ์ที่จะจัดการกับผู้กระทำผิดดังกล่าว ในแง่นี้ อาจจะพิจารณาได้ว่า รัฐมีสถานภาพเหมือนกรรมการเวที ในขณะที่เอกชนซึ่งแข่งขันกันอยู่ในกระบวนการแห่งการผลิตนั้น เปรียบเสมือนนักมวยสองฝ่ายที่ต่อสู้กันบนเวที นักมวยทั้งสองคนนั้นต่อสู้กันด้วยหลักสิทธิ และเสรีภาพของปัจเจกบุคคล หรือในหลักการทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า หลักการเรื่อง Laissez Faire
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียว ในการเป็นเจ้าของทรัพยากรทุกประการ ระบบนี้เกิดขึ้นเนื่องด้วยการตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กล่าวคือ ความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากร หมายความว่า ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศนั้นไม่ถูกกระจายให้ทั่วถึงประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน มีเพียงบางกลุ่มคนบางส่วนเท่านั้นที่ครอบครองทรัพยากร และอีกบางส่วนหรือส่วนใหญ่ที่เหลือไม่มีสิทธิ์ในการครอบครองทรัพยากร ปัญหาเช่นนี้ นำไปสู่การเกิดขึ้นของความแตกต่างในเรื่องของชนชั้นทางสังคม กล่าวคือ ระหว่างชนชั้นคนรวยและคนจน แนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจึงเริ่มต้นด้วยการมองว่า พลเมืองหรือเอกชนนั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงครอบครองทรัพยากรของชาติ เพราะทรัพยากรดังกล่าวเป็นของรัฐแต่เพียงเท่านั้น พลเมืองหรือประชากรทั้งหลายมีหน้าที่เป็นเพียงแรงงานของรัฐ และได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน
ระบบเศรษฐกิจแบบผสม
ในระบบนี้อัตราส่วนของการทำงานระหว่างรัฐและเอกชนจะมีลักษณะแบ่งครึ่ง กล่าวคือ ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมนั้น ธุรกิจบางชนิดเอกชนสามารถถือหุ้น หรือเป็นเจ้าของเองได้โดยสมบูรณ์ ในขณะที่ธุรกิจบางชนิดนั้น ตามหลักกฎหมายย่อมต้องถือว่ารัฐเป็นผู้มีสิทธิ์ในการครอบครองอัตราส่วนหรือหุ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งในวิชาเศรษฐศาสตร์มีความหมายถึงจำนวน 51% ตัวอย่างของธุรกิจดังกล่าวอาจจะพรรณาได้ว่า เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ หรือธุรกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งไม่อาจจะสามารถปล่อยให้อยู่ในมือของเอกชนได้แต่เพียงผู้เดียว เช่น ธุรกิจพลังงาน เราอาจจะเรียกธุรกิจในลักษณะนี้ว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในแง่นี้ระบบเศรษฐกิจแบบผสม คือ ระบบที่ให้ความสำคัญกับรัฐและเอกชนในฐานะผู้ผลิต ระบบเศรษฐกิจแบบผสมจึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างแนวคิดสุดขั้วของระบบเศรษฐกิจทั้ง 2 ระบบที่กล่าวมาข้างต้น
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ