ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-09 20:55:58
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่สำคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเสนอแนะแนวทางในการปฏิบัติตนของประชาชนในประเทศไทย ให้ดำเนินอยู่บนหลักการเรื่องทางสายกลาง กล่าวคือ การไม่เน้นการใช้จ่าย หรือการบริโภคที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถือว่า เป็นหลักปรัชญาที่สำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ที่นิยมการบริโภคกันอย่างมากเกินจำเป็นจนอันก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ
องค์ประกอบของหลักการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ประการดังต่อไปนี้
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป การบริโภคการใช้จ่ายจะไม่ฟุ่มเฟือย หรือไม่อดออมจนมากเกินไป อีกทั้งการดำเนินชีวิตในทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง หรือเบียดเบียนผู้อื่นจนมากเกินไป
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจในการดำเนินชีวิต หรือการตัดสินใจในการใช้หลักการทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล พิจารณาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากนั้น จึงนำมาสู่การไตร่ตรองถึงความจำเป็นหรือความสมเหตุสมผล
3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวของประชาชนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัตปัจจัย ไม่สามารถที่จะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ประชาชนพึ่งจะระวัง และเตรียมตัวไว้ก็คือ การเตรียมพร้อม หรือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง
หลักการที่กล่าวมาทั้ง 3 ประการนั้น ถูกวางบนเงื่อนไขที่สำคัญ 2 ประการคือ เงื่อนไขความรู้ และ เงื่อนไขคุณธรรม กล่าวคือ การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ด้วยวิชาการสาขาต่างๆ ประกอบกับเงื่อนไขเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเพียรและการใช้สติปัญญาต่างๆ ในการดำเนินชีวิต
เมื่อเข้าครบองค์ประกอบทั้ง 3 กับเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อดังกล่าวมานั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็จะเป็นไปอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียงจึงถือเป็นหลักปรัชญาที่สำคัญ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในสภาวะทางเศรษฐกิจของโลกยุคปัจจุบัน
หากพิจารณาเรื่องการผลิต ที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราอาจจะพิจารณาได้ว่า การวางโครงสร้าง หรือรูปแบบของการผลิตในท้องถิ่นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คือการที่ให้เห็นถึงความสำคัญของการพิจารณาต่อองค์ประกอบที่สำคัญทั้ง 3 ประการของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำมาเป็นรากฐานที่สำคัญในการผลิต
ในแง่นี้ ความพอประมาณสามารถพิจารณาได้ในความหมายที่ว่า การผลิตสินค้าและบริการในท้องถิ่นนั้น อาจจะต้องคำนึงถึงการผลิตอย่างพอประมาณ หากการผลิตมีปริมาณที่มากเกินไป ย่อมส่งผลต่อสมดุลของราคาตามหลักอุปสงค์ และอุปทาน จนนำไปสู่สภาวะสินค้าล้นตลาด และดัชนีราคาของสินค้าชนิดนั้นย่อมที่จะตกต่ำลง
ในประการที่ 2 หลักการเรื่องความมีเหตุผล อาจจะสามารถพิจารณาได้ว่า การตัดสินใจในการผลิตนั้นจะต้องใช้หลักการเรื่องเหตุและผลเป็นที่ตั้งแล้ว ในแง่นี้ การตัดสินใจที่จะผลิตอะไรด้วยวิธีอย่างไร และเพื่อใคร อาจจะต้องได้รับการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ก่อนที่กระบวนการในการผลิตในท้องถิ่นนั้นจะเกิดขึ้น
ในขณะที่ปัจจัยที่ 3 คือภูมิคุ้มกัน อาจจะหมายถึง การเตรียมตัวของประชากรในท้องถิ่นเพื่อตอบรับกับสภาพของความเปลี่ยนแปลง หรือความไม่แน่นอนในสภาวะทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการผลิตที่เกิดขึ้น การมีภูมิคุ้มกันที่ดีอาจจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ผลิตสามารถจัดการกับปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนของสภาวะทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อปริมาณและสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นในท้องถิ่นได้
ในแง่นี้ การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับการผลิตในท้องถิ่น ถือเป็นหลักการที่สำคัญ และสามารถใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินการผลิต หรือการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ