ปัจจัยการผลิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-09 20:51:22
ในวิชาเศรษฐศาสตร์ สินค้า และบริการต่างๆ นั้นจำเป็นต้องได้รับการผลิตขึ้น ก่อนการผลิตสินค้า และบริการต่างๆ จะเกิดขึ้น ผู้ผลิตมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงหลักการเรื่องปัจจัยในการผลิตในทางเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ประการ ประการแรกคือ ปัจจัยเรื่อง “อะไร” (what) ประการที่สองคือ หลักการเรื่อง “อย่างไร” (how) และปัจจัยสุดท้ายคือ “เพื่อใคร” (for whom)
ปัจจัยเรื่อง “อะไร” อาจจะสามารถขยายความได้ว่า จะผลิตอะไร แนวคิดเรื่องการจะผลิตอะไรนั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยเรื่องการผลิตที่มีความสำคัญ เหตุผลคือ ด้วยหลักคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่มองว่า ทรัพยากรของโลกนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การเลือกใช้ทรัพยากรเพื่อจะผลิตสินค้า และบริการ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องความขาดแคลนของทรัพยากรในการผลิต ดังนั้น ก่อนการผลิตจริงควรไตร่ตรองให้ดีว่า ทรัพยากรที่มีอยู่นั้นเหมาะสม หรือสมควรที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าหรือบริการชนิดใด
ปัจจัยเรื่อง “อย่างไร” นั้นมีความหมายว่า การผลิตนั้นควรจะมีกระบวนการ หรือวิธีการในการผลิตอย่างไร เพื่อที่จะให้ได้กำไรสูงสุด และมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด การคิดคำนวนเรื่องวิธีการในการผลิต ถือเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของกำไรที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากกระบวนการผลิต เพราะหากกระบวนการในการผลิตนั้นเป็นกระบวนการที่มีมูลค่า หรือค่าใช้จ่ายมากเกินไป ย่อมส่งผลต่อมูลค่าของกำไรของสินค้า และบริการที่จะลดลงภายหลังที่เกิดการผลิต
ปัจจัยเรื่อง “เพื่อใคร” ถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งในวิชาเศรษฐศาสตร์ เพื่อใครในที่นี้หมายถึง ลูกค้า กล่าวคือ สินค้าที่เราผลิตขึ้นมานั้น สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้หรือไม่ หากสินค้าที่ผลิตขึ้นมานั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ปัญหาที่ตามมาคือ สินค้าเหล่านั้นจะไม่มีผู้ซื้อ และส่งผลต่อการไม่มีกำไรที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการในการผลิตดังกล่าว
ในขณะที่ปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการ ในความหมายที่เป็นปัจจัยตั้งต้นในการผลิตนั้น อาจจะสามารถพิจารณาได้ 4 แบบคือ
1. ปัจจัยเรื่องทุน ในฐานะที่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ โรงเรือน
2. ปัจจัยเรื่องที่ดิน ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของทุน
3. ปัจจัยเรื่องแรงงาน ในฐานะที่เป็นแรงงานของมนุษย์ ไม่นับรวมแรงงานสัตว์
4. ปัจจัยเรื่องผู้ประกอบการ ในฐานะที่เป็นเจ้าของ ผู้ซึ่งนำปัจจัยการผลิตทั้งหมดเข้ามาประสานรวมกัน และก่อให้เกิดการผลิตสินค้า และบริการชนิดต่างๆ ขึ้น
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ