วันสำคัญทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับพระรัตนไตร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-09 20:36:37
ในศาสนาพุทธนั้น มีวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ มากมาย ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระรัตนไตรทั้งสาม ทั้งพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ หรือพระธรรมคำสอน หากพิจารณาวันสำคัญที่โดดเด่นของแต่ละองค์ประกอบทั้งสามนั้น อาจจะมองได้ว่าประกอบอยู่ด้วย วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา
วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันที่มีความสำคัญของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นวันที่พระองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เหตุการณ์ทั้งสามดังกล่าวนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน เพียงแต่คนละปี
วันประสูติ
ในวันที่ทรงประสูติ พระพุทธเจ้าทรงหันพระพักตร์ไปยังทิศเหนือ พร้อมทรงพระดำเนิน 7 ก้าว อันเป็นเครื่องแสดงถึงจำนวนของแคว้นที่จะทรงเผยแพร่ธรรม จากนั้นทรงเอ่ย “อาสภิวาจา” ว่า
“เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป”
อันมีความหมายที่บ่งชี้ถึงการจะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในชาตินี้
วันตรัสรู้
ในขณะที่เหตุการณ์วันตรัสรู้นั้น ปรากฏว่าเกิดขึ้นภายใต้การทรงมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงสภาวะแห่งความเป็นจริงของโลกและสรรพสิ่ง ซึ่งดำรงอยู่ย่างสอดคล้อง เชื่อมโยงกันไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล เหมือนห่วงโซ่ซึ่งไม่สามารถจะกำหนดจุดเริ่มต้น และจุดจบได้
สรรพสิ่งทั้งหลาย ดำรงอยู่อย่างเป็นพลวัติหมุนเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและปัจจัย และด้วยการสนับสนุนเชื่อมโยงกันระหว่างธรรมทั้งหลาย พระองค์จึงทรงตรัสรู้ได้ว่าสรรพสิ่งนั้นปราศจากซึ่งตัวตน หรือแก่นสารสาระอันเป็นนิรันดร์ มีเพียงแต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนผ่านไปเป็นปรากฏการณ์อื่นๆ เรื่อยไปแต่เพียงเท่านั้น
การเข้าใจธรรมข้อนี้ คือการเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท ผู้ซึ่งเข้าใจธรรมข้อนี้ คือผู้ที่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของโลก และสรรพสิ่ง ซึ่งหมายความถึงผู้ที่เข้าใจในธรรมะที่แท้จริงนั่นเอง
วันปรินิพพาน
ในขณะที่วันปรินิพพานนั้น เกิดขึ้นเมื่อทรงมีพรรษาได้ราว 80 ปี ในคืนสุดท้ายก่อนที่จะทรงปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงตอบคำตอบต่อเหล่าคณะสงฆ์ ที่รายล้อมพระวรกายอยู่ในประเด็นที่ว่า จงใช้ธรรม (คำสอน) ของเราเป็นตัวแทนเมื่อเรานั้นได้จากพวกท่านไปแล้ว ซึ่งกลายเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา” และในท้ายที่สุด ทรงตรัสสอนในข้อสุดท้ายว่า “ท่านทั้งหลายจงตั้งอยู่บนความไม่ประมาท” ข้อนี้จึงถือเป็นปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์
หลักธรรมที่ปรากฏเป็นสิ่งสำคัญในวันวิสาขบูชาคือ หลักธรรมเรื่องอริยสัจ 4 กล่าวคือ เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ภายในคืนแห่งการบรรลุธรรม จนสามารถละกิเลสได้อย่างหมดสิ้น หรือการเข้าสู่ขั้น “อาสวักขยญาณ”
ในแง่นี้ หลักธรรมเรื่องอริยสัจ 4 จึงเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุ และที่มาของความทุกข์ และทรงทราบเหตุและที่มาของการดับทุกข์ ในแง่นี้ อริยมรรคมีองค์ทั้ง 8 ประการ จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นในแนวทางของพระพุทธศาสนา
ในขณะที่หากพิจารณาในเหตุการณ์ปรินิพพาน หลักธรรมเรื่องความไม่ประมาท หรืออัปมาทธรรมนั้น ถือว่าเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยทรงกล่าวคำสอนข้อสุดท้าย ให้เหล่าสงฆ์ทั้งหลายจงตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ในแง่นี้ ทรงเตือนให้เหล่าสงฆ์ทั้งหลายมีสติตั้งมั่น หรือจดจ่ออยู่กับสภาวะแห่งความเป็นปัจจุบัน ไม่หลงใหลไปกับสิ่งซึ่งปรากฏขึ้น ซึ่งตั้งอยู่ และดับหายไปด้วยเหตุปัจจัย ความไม่ประมาทจึงสะท้อนถึงการมีสติตั้งมั่นอยู่ในทุกเวลา
วันมาฆบูชา
ในขณะที่วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คือวันที่เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้น เมื่อ
- พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยมิได้มีการนัดหมายมาก่อน
- พระสงฆ์เหล่านั้นต่างเป็นอรหันต์
- พระสงฆ์เหล่านั้นต่างเป็นพระผู้ซึ่งได้รับการบวชให้โดยพระพุทธเจ้าหรือ เอหิภิกขุอุปปสัมปทา
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เรียกว่า การประชุมพร้อมทั้งองค์ 4 หรือ จาตุรงคสันนิบาต ในวันดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงสอนโอวาทปาติโมกข์ อันมีเนื้อความบ่งถึง การทำดี การไม่ทำชั่ว และการทำใจให้บริสุทธ์
วันมาฆะบูชานี้ เป็นวันที่สะท้อนถึงหลักธรรมเรื่องความกตัญญู ที่เหล่าสานุศิษย์ของพระพุทธศาสนามีต่อพระพุทธเจ้า ด้วยการพร้อมใจระลึกถึงคุณของพระองค์ และเดินทางกลับมาน้อมคารวะพระองค์อย่างพร้อมเพรียงกัน
วันอาสาฬหบูชา
ในขณะที่วันอาสาฬหบูชา คือ วันที่พระอัญญาโกณฑัญญะสามารถเข้าใจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง กล่าวคือ อริยสัจ 4 และเกิดดวงตาเห็นธรรม จึงขอบวชเข้าสู่พระพุทธศาสนา เหตุการณ์นี้ส่งผลให้พระพุทธศาสนานั้น มีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์สามประการ คือ
- พระพุทธ (พระพุทธเจ้า)
- พระธรรม (คือธรรมที่เอามาสอน)
- พระสงฆ์ (คืออัญญาโกณฑัญญะ)
วันอาสาฬหบูชานี้ คือวันสำคัญทางศาสนา ที่แสดงออกถึงความสำคัญของหลักธรรมอริยสัจ 4 ได้เป็นอย่างดีอีกวันหนึ่ง เนื่องด้วยเพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแห่ง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” อันมีความหมายถึง การตระหนักรู้ในทางสายกลางในการปฏิบัติ โดยการปฏิเสธทางปฏิบัติที่สุดต่างทั้งสองทาง การปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวโดยแท้จริงคือ หลักธรรมเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 ของหลักธรรมเรื่องอริยสัจ 4 นั่นเอง
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ