www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม > ม.2

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-02-09 19:33:22

การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ เริ่มต้นจากดินแดนชมพูทวีป ซึ่งก็คือประเทศอินเดียในปัจจุบัน ไปสู่ดินแดนต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของพระเจ้าอโศกมหาราช ในปัจจุบัน ศาสนาพุทธได้แบ่งออกเป็น 2 นิกายใหญ่ ศาสนาพุทธสายที่เจริญ และเผยแพร่ไปทางเหนือของอินเดีย ผ่านไปยัง ธิเบต จีน เกาหลี และญี่ปุ่น คือนิกายมหายาน ส่วนศาสนาพุทธที่เจริญในดินแดนสุวรรณภูมิ หรือภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในปัจจุบัน คือนิกายเถรวาท 

ภาพ : shutterstock.com

 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น พระพุทธศาสนาสายเถรวาทได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน นิกายเถรวาทนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา กล่าวได้ว่าดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท

ภาพ : shutterstock.com

 

ทางด้านพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ได้เผยแพร่ออกจากดินแดนชมพูทวีป เข้าสู่ประเทศจีนในช่วงสมัยราชวงศ์ฮั่น และเจริญขึ้นสูงสุดในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง มีการส่งสมณทูตคนสำคัญอย่างพระภิกษุเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) เดินทางไปชมพูทวีป เพื่อคัดลอกพระไตรปิฎกโดยแปลคัมภีร์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ทำให้อิทธิพลของศาสนาพุทธได้กระจายออกไปสู่ประชาชนชาวจีนเป็นวงกว้างตั้งแต่นั้นมา ตั้งแต่ชนชั้นสูง กล่าวคือ ราชสำสัก ขุนนาง ไปจนถึงชนชั้นกลางคือ พ่อค้า และชนชั้นประชาชน จนทำให้ดินแดนจีนนั้น ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดของศาสนาพุทธอย่างชัดเจน

หลังจากนั้น ศาสนาพุทธได้แพร่หลายไปยังเกาหลี และญี่ปุ่นตามลำดับ กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาในสายตะวันออกไกลนั้น เป็นพระพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีนเป็นสำคัญ

แม้ว่าศาสนาพุทธจะพัฒนาแยกเป็น 2 นิกายหลักดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และมีแนวทางปฏิบัติ หรือจริยวัตรของสงฆ์ที่ต่างกัน แต่ล้วนตั้งอยู่บนหลักการสำคัญเดียวกัน กล่าวได้ว่า ศาสนาพุทธทั้ง 2 นิกายก็เหมือนคนละด้านของเหรียญเดียวกัน ต่างก็ยึดถือคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแกนกลาง ความสัมพันธ์อันมีรากฐานมาจากลักษณะร่วมดังกล่าวของพระพุทธศาสนา นับเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งเป็นเดียวกันในสภาพสังคมโลกในปัจจุบัน

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ