เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-01-31 21:20:55
ในหลักการเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือการค้าระหว่างประเทศนั้น การพึ่งพาอาศัยกัน และการแข่งขันกันในเชิงเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยทั่วไปแล้วนั้น ระบบความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ในโลก วางอยู่บนแนวความสัมพันธ์อันตึงแย้งในสองประการระหว่างกันคือ ความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพาอาศัยกัน และความสัมพันธ์ในลักษณะของการแข่งขัน
ความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพาอาศัยกัน
เกิดจากการตระหนักได้ว่า สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกนั้น ไม่อาจที่จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น หากปราศจากการพึ่งพาอาศัยกันของประเทศคู่ค้าต่างๆ ในแง่นี้ การพึ่งพาอาศัยกัน อาจจะปรากฏขึ้นในรูปของการบรรเทาของอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เรื่องของภาษี หรือการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงการร่วมมือ และการรวมกลุ่มระหว่างกันในระบบการค้าระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ในลักษณะของการแข่งขัน
ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวนี้คือ ตัวแบบของการต่อสู้ และแข่งขันเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ในโลก ในแง่นี้การแข่งขันดังกล่าว ถือว่าเป็นโครงสร้างหลักประการหนึ่งของระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หากประเทศนั้นไม่มีความสามารถ หรือไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการแข่งขัน ย่อมที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในลักษณะดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ในระยะเวลาภายหลังนี้ ประเทศต่างๆ ในโลกจึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพาอาศัยระหว่างกันให้มากขึ้น อันเป็นประโยชน์ที่จะก่อให้เกิดกับตนเอง และประเทศอื่นในฐานะคู่ค้าได้อย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น ปรากฏการณ์ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และลดข้ออุปสรรคทางการค้าระหว่างกันของเหล่าประเทศสมาชิก เช่น แนวคิดเรื่องเขตการค้าเสรี หรือการลดกำแพงภาษีระหว่างกันของประเทศต่างๆ ในทางกลับกัน การสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจนั้น ในท้ายที่สุดมักจะนำมาซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศตนเองอย่างไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ