การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะศาสนสาวก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-01-31 19:08:54
ศาสนิกชนของทุกศาสนา คือองค์ประกอบที่สำคัญ ที่ทำให้ศาสนาต่างๆ นั้นดำรงอยู่ได้ ศาสนิกชนก็คือผู้ที่ศรัทธาในคำสอนของศาสนาหนึ่งๆ โดยยึดปฏิบัติตาม “จริยวัตรของศาสนสาวก” เช่น อุปถัมภ์ค้ำชูศาสนาด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่อศาสนสถาน ถ้าเป็นศาสนาพุทธก็อาจจะเป็นการทำนุบำรุงวัดวาอาราม การบริจาคทานในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
ศาสนาหนึ่งๆ ประกอบไปด้วย
1. ศาสดา
2. ศาสนธรรม
3. ศาสนสาวก
4. ศาสนสถาน และ
5. ศาสนพิธี
หลังจาก “ศาสดา” สิ้นไปแล้ว ก็อาศัย “ศาสนสาวก” ช่วยกันธำรง “ศาสนธรรม” ให้ดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งองค์กรศาสนาที่เป็นรูปธรรมนั้นจะดำรงอยู่ได้ ต้องมีการรวมตัวกันประกอบกิจกรรมของศาสนิกชน ก็คือการประกอบ “ศาสนพิธี” ใน “ศาสนสถาน” ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจของศาสนิกชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ดังนั้น การทำนุบำรุงศาสนสถานนั้น แม้จะเป็นส่วนกระพี้ แต่ก็มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของศาสนาทุกศาสนาเลยทีเดียว
ในฐานะที่เป็นนักเรียน การบำเพ็ญประโยชน์ต่อศาสนาที่เหมาะสมกับวัย และฐานะ ก็คือการศึกษาหาความรู้ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าในศาสนาที่ตัวเองนับถืออยู่อย่างลึกซึ้ง หากนักเรียนมีความเข้าใจในแก่นคำสอนของศาสนา นักเรียนก็จะประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นแบบอย่างแก่คนรอบข้าง และเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อผู้ที่นับถือศาสนาอื่นด้วย อันจะทำให้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข
หลักธรรมในศาสนาพุทธอันจะทำให้สังคมเกิดสันติสุขได้ก็คือ “สังคหวัตถุ 4” เป็นหลักธรรมแห่งการสงเคราะห์กันระหว่างคนในสังคมเดียวกัน พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นหลักปฏิบัติที่สอนให้คนอยู่ร่วมในสังคมอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความสมัครสมานสามัคคี เอื้ออารีต่อกัน ประกอบไปด้วย
1. ทาน การให้ การแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเสียสละส่วนของตนแก่บุคคลอื่น
2. ปิยวาจา การเจรจากันด้วยความสุภาพและจริงใจ ถูกกาลเทศะและเป็นประโยชน์
3. อัตถจริยา การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
4. สมานัตตตา การประพฤติตนสม่ำเสมอ ทั้งปฏิบัติต่อผู้อื่นเสมอภาคกัน ทำให้เกิดความสมานฉันท์ ปฏิบัติตนสมฐานะ และมีความเสมอต้นเสมอปลาย
หลักสังคหวัตถุ 4 นี้สามารถใช้ได้กับทุกศาสนา ไม่เฉพาะเจาะจงสำหรับชาวพุทธเท่านั้น
การให้ทาน สามารถทำได้ทั้งการบริจาคทรัพย์เพื่อบำรุงศาสนสถานของตนเอง และการบริจาคทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก
ปิยวาจา ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ทั้งต่อศาสนิกชนในศาสนาเดียวกัน และต่อเพื่อนศาสนิกชนในศาสนาอื่น
อัตถจริยา ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งในและระหว่างศาสนา
สมานัตตตา ก็จะช่วยสร้างสันติภาพในสังคม จากการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ