www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม > ม.1

การบริหารจิตและเจริญปัญญา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-01-31 18:54:19

การบริหารจิต และการเจริญปัญญานั้น เป็นการฝึกจิตในศาสนาพุทธ เป็นเรื่องของสมาธิ และปัญญาใน “ไตรสิกขา” คือ หลังจากรักษาศีล ระงับความประพฤติที่ไม่ดี ไม่สมควร ได้เป็นปกติแล้ว ก็จะทำให้จิตเกิดความสงบ และตั้งมั่น ฝึกสมาธิได้ง่าย นำไปสู่ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในที่สุด 

ภาพ : shutterstock.com

 

การบริหารจิตเจริญปัญญาในศาสนาพุทธ แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นใหญ่ คือ การเจริญสมถกรรมฐาน และการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

 

การเจริญสมถกรรมฐาน

เป็นการฝึกจิตให้เกิดความสงบ และตั้งมั่นอยู่ในฌานขั้นต่างๆ โดยสามารถทำได้ถึง 40 วิธีด้วยกัน เรียกว่า “กรรมฐาน 40 กอง” แบ่งออกเป็น

1. การเพ่งกสิณ 10 ประการ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ และสีต่าง ๆ

2. อสุภกรรมฐาน 10 ประการ อสุภะ แปลว่าของไม่สวยไม่งาม ของน่าเกลียด เป็นการพิจารณาซากศพในระยะต่างๆ ตั้งแต่ศพเริ่มขึ้นอืดไปจนถึงเหลือแต่โครงกระดูก จุดประสงค์เพื่อทำลายราคะจริตโดยเฉพาะ

3. อนุสติ 10 ประการ คือการระลึกถึงสิ่งต่างๆ เป็นอารมณ์ เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล และลมหายใจเข้าออก หรือที่เรียกว่า อานาปานสติ

4. อัปปมัญญา 4 ประการ หรือพรหมวิหาร 4 คือการแผ่จิตที่เป็น เมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา

5. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา คือการพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารที่กิน

6. จตุธาตุววัฏฐาน คือการพิจารณารูป หรือร่างกายของตนว่าเป็นแต่เพียงธาตุทั้ง 4 มากองรวมกัน

7. อรูปฌาน 4 ประการ คือการกำหนดอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ ยึดที่ว่างเป็นอารมณ์ (อากาสานัญจายตนะ) ยึดตัวรู้เป็นอารมณ์ (วิญญาณัญจายตนะ) ยึดความไม่มีเป็นอารมณ์ (อากิญจัญญายตนะ) ยึดความไม่ใช่ว่ามีและไม่ใช่ว่าไม่มีเป็นอารมณ์ (เนวสัญญานาสัญญายตนะ)

สมถกรรมฐานนี้ ยึดเอารูปบ้าง อรูปบ้าง เป็นอารมณ์เดียว โดยอรูปฌานมีความละเอียดที่สุด

 

การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

เป็นการพิจารณาธรรม หรือความเป็นจริงของโลกและสรรพสิ่ง เพื่อให้เห็น “ไตรลักษณ์” คือความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน ไม่ใช่ตัวตน เห็น “อิทัปปัจจยตา” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” คือความเป็นสาเหตุปัจจัยของสภาวธรรมต่างๆ และเห็น “อริยสัจ” คือทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับลงของทุกข์ และหนทางสู่ความดับลงของทุกข์นั้น อันทำให้สามารถตัดอาสวะกิเลสจนขาดสะบั้นลงได้ในที่สุด

สมถกรรมฐานทั้ง 40 กองข้างต้น ไม่สามารถทำให้บุคคลตัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ต้องอาศัยวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น กล่าวคือ สมถกรรมฐานทำให้เกิดกำลังของจิตที่เป็นสมาธิ เพื่อใช้พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดได้ในที่สุด การทำวิปัสสนากรรมฐานทำได้โดยเจริญ “สติปัฏฐาน 4”

 

สติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีการภาวนาโดยให้จิตระลึกรู้เท่าทันสภาวธรรมทั้ง 4 อย่าง ได้แก่

1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการมีสติพิจารณากาย

2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการมีสติพิจารณาเวทนา

3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการมีสติพิจารณาจิต

4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการมีสติพิจารณาธรรม

 

กล่าวโดยย่อ สติปัฏฐาน 4 คือการระลึกรู้ ตามเห็นการเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ของกาย ของเวทนา ของจิต และธรรมทั้งปวง เพื่อให้จิตทำลายอวิชชาที่เป็นต้นตอแห่งวัฏสงสาร การเวียนว่ายเกิดดับ และความทุกข์นั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ