การนับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์แบบไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-01-31 12:01:29
การนับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์นั้น มีการใช้ปีศักราชแตกต่างกันไป ในด้านประวัติศาสตร์ไทยนั้น นิยมใช้พุทธศักราช จุลศักราช มหาศักราช และรัตนโกสินทร์ศก แล้วแต่ความนิยมในแต่ละช่วงเวลา
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของประวัติศาสตร์ไว้ว่า “วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมา หรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้น ตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน” เฮโรโดตัส (Herodotus) ชาวกรีก ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์” จากผลงานสำคัญคือ การเขียนบันทึกเรื่องราวสงครามระหว่างกรีก กับเปอร์เซีย ส่วนในประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีไทย” ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “ประวัติศาสตร์” ขึ้นมา
ด้วยความแตกต่างในระบบอารยธรรมต่างๆ นำไปสู่ความแตกต่างในเชิงการแบ่งแยกของยุคสมัยของอารยธรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับปัจจัยทางวัฒนธรรมอื่น เช่น ศาสนา หรือความเชื่อ สำหรับอารยธรรมที่มีศาสนาพุทธเป็นรากฐานนั้น การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์จะใช้ระบบ “พุทธศักราช” (พ.ศ.) เป็นหลัก ประเทศไทยมีการใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการคือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการนับ 2 แบบ ได้แก่
1. แบบปีย่าง คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน นับเป็น พ.ศ. 1 ทันที
2. แบบปีเต็ม คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไปแล้ว 1 ปี จึงนับเป็น พ.ศ. 1
ในขณะที่อารยธรรมในแถบสุวรรณภูมิ ช่วงก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยนั้น นิยมใช้ระบบมหาศักราช (ม.ศ.) ในการแบ่งยุคสมัย โดยใช้ตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนาสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ มหาศักราช + 621 = พุทธศักราช
ภายหลังจากการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมใช้การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ด้วยระบบ จุลศักราช (จ.ศ.) ทั้งนี้พบการใช้จุลศักราชในหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ จุลศักราช + 1181 = พุทธศักราช
ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีระบบการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์โดยใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) โดยรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 เริ่มนับในปี พ.ศ. 2325 ซึ่งตรงกับปีที่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ รัตนโกสินทร์ศก + 2324 = พุทธศักราช
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ