ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2021-01-31 11:31:44
ในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์นั้น สามารถแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ออกได้เป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือ หนึ่ง ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และสอง ยุคประวัติศาสตร์ ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์คือช่วงยุคที่ยังไม่มีการใช้ตัวอักษรหรือภาษาเขียน ในขณะที่ยุคประวัติศาสตร์คือยุคที่เริ่มมีการใช้อักษรขีดเขียนบันทึกเรื่องราว จึงทำให้คนรุ่นหลังสามารถศึกษา สืบสาว สืบค้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นได้
ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุคหิน อันประกอบไปด้วย ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง และยุคหินใหม่ ในขณะที่ยุคประวัติศาสตร์นั้น มีการไล่ลำดับยุคดังต่อไปนี้
1. ยุคโบราณ ประกอบด้วยอารยธรรมต่างๆ ที่สำคัญเช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมกรีกโรมัน อารยธรรมเปอร์เซีย อารยธรรมจีนโบราณ และอารยธรรมอินเดียโบราณ
2. ยุคกลาง หรือเรียกอีกชื่อว่า ยุคมืด ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งต่อสภาพสังคมเศรษฐกิจ และการเมืองในยุโรป สมเด็จพระสันตปาปาที่เป็นผู้นำของศาสนจักรนิกายโรมันคาทอลิก กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของวัฒนธรรมยุโรป หากพิจารณาเรื่องระยะเวลาพบว่า ยุคกลางนั้นเริ่มต้นเมื่อศตวรรษที่ 5 และสิ้นสุดลงในราวศตวรรษที่ 13
3. ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ยุคนี้มีระยะเวลาที่สั้นมาก กล่าวคือราว 300 ปี หรือในราวศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 16 ในยุคนี้ อำนาจและอิทธิพลของศาสนาเริ่มจางหายลงไป ประชาชนในยุคดังกล่าวมีความนิยมชมชอบกับแนวคิด และวัฒนธรรมของอารยธรรมในยุคโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารยธรรมของกรีกโรมัน คนยุคนี้หันกลับไปหาความคิด และความรู้ของอารยธรรมกรีกโรมัน จนนำไปสู่ที่มาของชื่อยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ กล่าวคือ เป็นการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการความรู้ของอารยธรรมกรีกโรมันให้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
4. ยุคใหม่ คือยุคที่อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 20 ยุคใหม่นี้ คือยุคที่มีการปฏิวัติสำคัญๆ เกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติทางการเมือง เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส หรือการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ ในวิชาประวัติศาสตร์อาจจะมองได้ว่ายุคสมัยใหม่นี้ คือยุคแห่งการเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาทางความรู้ของมนุษยชาติอย่างแท้จริง องค์ความรู้ชนิดต่างๆ ที่ไม่เคยปรากฏขึ้นในโลกมาก่อน ต่างเกิดขึ้นในยุคสมัยดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของหัวรถจักรไอน้ำ อันเป็นผลพวงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอย่างชัดเจน
5. ยุคปัจจุบัน หรือยุคร่วมสมัย ซึ่งเริ่มต้นภายหลังจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในราวปี 1945 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ