ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-11-15 14:10:45
ในโลกยุคปัจจุบัน นโยบายการค้าระหว่างประเทศนั้น ถือเป็นหนึ่งในพื้นฐานของความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ อย่างชัดเจน การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้น เป็นความพยายามในการสร้างระบบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าต่างๆ ให้มีความราบรื่น และเอื้ออำนวยต่อการดำเนินการค้าระหว่างกันและกัน ผ่านการจัดตั้งองค์กรการเงินระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้บริหารจัดการ
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจจะประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การค้าระหว่างประเทศที่มีการขยายตัวอย่างมาก การเติบโตของบรรษัทข้ามชาติ การเปิดเสรีด้านการเงิน การส่งเสริมการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่มีความหลากหลายและซับซ้อน
อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญในโลกนั้น ประกอบด้วยนโยบายการค้าที่สำคัญสองประการคือ นโยบายการค้าแบบเสรี และนโยบายการค้าแบบคุ้มกัน ซึ่งมีความแตกต่างกันในลายละเอียดคือ
- นโยบายการค้าเสรี จะไม่มีการตั้งกำแพงภาษี ไม่มีข้อจำกัดทางการค้าอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีคือ ตลาดสินค้าขยายตัว สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้ว่าประเทศของตนจะไม่สามารถผลิตสินค้าบางอย่างเองได้ ก่อให้เกิดความถนัดในการผลิตสินค้าและบริการ ในขณะที่ผลด้านลบของนโยบายเช่นนี้คือ อาจส่งผลต่อการขาดดุลการค้า หรือบางประเทศไม่พยายามผลิตสินค้าบางอย่างเอง
- นโยบายการค้าแบบคุ้มกัน คือการผลิตสินค้าหลายๆ ชนิดเอง เพื่อลดการนำเข้าด้วยการให้ความคุ้มครองสินค้าในประเทศ โดยตั้งกำแพงภาษีขาเข้าในอัตราสูง หรือกำหนดข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ เช่น กำหนดโควตาการนำเข้า การห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เป็นต้น นโยบายเช่นนี้ ส่งผลให้การผลิตสินค้าในประเทศขยายตัว สามารถลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ รัฐมีรายได้จากภาษีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผลเสียของนโยบายในลักษณะดังกล่าวคือ สินค้านำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาแพง เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากประเทศอื่นที่โดนกีดกันสินค้า
การมีนโยบายในลักษณะกีดกันดังกล่าว อาจจะเป็นไปเพื่อความประสงค์ที่จะต้องการให้ดุลการชำระเงินของประเทศมีลักษณะที่เป็นบวก ดุลการชำระเงินดังกล่าวนั้นมีความถึง บัญชีต่างๆ ซึ่งบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง ภายในช่วงระยะเวลา 1 ปี ประกอบด้วย
1. บัญชีเดินสะพัด มีประกอบย่อยคือ ดุลการค้า ดุลบริการ บัญชีรายได้ บัญชีเงินโอน
2. บัญชีเงินทุน มีองค์ประกอบย่อยคือ บัญชีทุน บัญชีการเงิน
3. ทุนสำรองระหว่างประเทศ
ตัวอย่างของ หน่วยงานที่สำคัญที่มีบทบาทในเวทีการค้าระดับโลกนั้นประกอบด้วย
- ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ ธนาคารโลก (International Bank for Reconstruction and Development : IBRD)
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF)
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB)
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง