ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-11-15 13:35:31
ประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 หลังจาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ปราบดาภิเษกขึ้น เป็นพระปฐมบรมมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ประเทศไทยซึ่งแต่ก่อนเรียกว่า “สยาม” ได้ผ่านช่วงเวลาแห่งสงครามในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก สยามจำต้องปรับเปลี่ยนประเทศตามอย่างตะวันตก เหตุการณ์สำคัญที่สุดคือ “การเลิกทาส” แม้สยามจะไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน แต่อิทธิพลของแนวคิดแบบตะวันตก ก็ได้เข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสยามในที่สุด คือการปฏิวัติ หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน
รัตนโกสินทร์ตอนต้น
ด้านสังคม มีระบบศักดินาเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา
ด้านวัฒนธรรม มีการสังคายนาพระไตรปิฎก เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ มีการสร้าง และบูรณะวัด ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วรรณกรรมสำคัญ ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราช สามก๊ก ไกรทอง
ด้านเศรษฐกิจ มีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกฉบับแรก คือ “สนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty)” กับประเทศอังกฤษ เป็นสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้า มีการผูกปี้ข้อมือจีน คือ ชาวจีนจ่ายเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงานไพร่ เกิดการเก็บภาษีรูปแบบใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เรียกว่า ระบบเจ้าภาษีนายอากร
ด้านการเมืองการปกครอง นำแบบอย่างของระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาจากสมัยอยุธยา มีการชำระ และรวบรวมกฎหมายขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง
การปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย
การแผ่อำนาจ และการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ความจำเป็นในการรับ และเรียนรู้วิทยาการตะวันตก รวมถึงการขาดประสิทธิภาพ และความล้าหลังของระบบไพร่และหน่วยงานราชการ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องมีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยในช่วงรัชกาลที่ 4-6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้
การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 4
การศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ การประกาศให้ขุนนางสวมเสื้อเข้าเฝ้า ทรงร่วมดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา การปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก และทางน้ำ มีการลงนามใน “สนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty)” กับประเทศอังกฤษ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ยกเลิกระบบการผูกขาดการค้าโดยรัฐ ให้มีการส่งเสริมการค้าเสรี ให้ยกเลิกภาษีปากเรือและภาษีอื่นๆ ที่ไทยเคยเรียกเก็บ แต่ให้เรียกเก็บเป็นภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้า ในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 แทน ให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต แก่คนในบังคับของอังกฤษ จะแก้ไขสนธิสัญญาฉบับนี้ได้เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 10 ปี
การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5
การเลิกไพร่ การเลิกทาส การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง การปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น การเลิกธรรมเนียมหมอบคลานเข้าเฝ้า
การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 6
พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 การส่งเสริมอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” จัดตั้งเมืองจำลองประชาธิปไตย หรือ ดุสิตธานี
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปีพุทธศักราช 2475
สืบเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระราชโอรส และบุตรหลานของขุนนางในราชสำนัก ไปศึกษาวิชาการด้านต่างๆ จากยุโรป เพื่อนำความรู้และวิทยาการแบบตะวันตก กลับมาพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวทันนานาอารยประเทศ
ในด้านการเมืองการปกครอง เริ่มมีแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยปรากฏว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงให้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมพระราชทานแก่ประชาชนชาวสยาม แต่ยังไม่ทันได้พระราชทานก็เกิดการปฏิวัติเสียก่อน โดยนายทหารและนักเรียนนอกทุนหลวงกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันวางแผนก่อการปฏิวัติ ยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ในนามของ “คณะราษฎร” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสยามประเทศ ที่เปลี่ยนการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราช” มาเป็น “ประชาธิปไตย”
การปฏิวัติการปกครองในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส เป็นต้นแบบที่คณะราษฎรนำมาปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองในสยามมีความแตกต่างออกไป เนื่องจากเจตจำนงในการล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ในสยาม ไม่ได้เริ่มจากฐานราก หรือจากประชาชน และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการยึดอำนาจครั้งนี้ แต่การปฏิวัติในสยามเกิดจากชนชั้นกระฎุมพี ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกเพียงไม่กี่คน การดำเนินการยึดอำนาจจึงต้องวางแผน โดยหลอกเอากำลังทหารมาใช้ปฏิบัติการ และควบคุมให้ประชาชนอยู่ในความสงบโดยใช้ตัวประกัน
ต่อมาเมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้ว คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษ และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับแรก เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”
บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่มีส่วนสร้างสรรค์วัฒนธรรม
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัย
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม เป็นผู้ออกแบบอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวางระเบียบแบบแผนราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทรงศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรก ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจาก “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเนสโก (UNESCO)”
- หม่อมราโชทัย เป็นล่ามหลวงที่เดินทางไปกับคณะราชทูตไทย ที่เชิญพระราชสาสน์ รวมถึงเครื่องมงคลราชบรรณาการ ไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ที่มีความสนใจเรียนรู้ในวิทยาการใหม่ๆ จากตะวันตก
- พระยากัลยาณไมตรี (ดร. ฟรานซิส บี แซร์ / Dr. Francis B. Sayre) เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ไปเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญากับต่างประเทศที่ไทยเสียเปรียบ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
- ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศิลปกรรมแขนงประติมากรรม เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้ที่นำยางพารามาปลูกครั้งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดตรัง
- หมอบลัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เป็นผู้นำเอาวิชาความรู้วิทยาการสมัยใหม่ในด้านการแพทย์ และการพิมพ์จากตะวันตกเข้ามายังสยาม
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง