ความเป็นมาของชนชาติไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-11-15 13:33:27
ดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีความเป็นมายาวนาน ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนมนุษย์โบราณ โดยมีการค้นพบหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ต่อมามีการเกิดขึ้นของอาณาจักรโบราณต่างๆ กระจายตัวทั่วภูมิภาคตลอดช่วงระยะเวลาในประวัติศาสตร์ ผลัดกันเรืองอำนาจ และล่มสลายลงไป หากแต่ยังหลงเหลือร่องรอยในอดีต ทิ้งไว้เป็นมรดกแก่ชนชาติไทยในปัจจุบัน
แหล่งโบราณคดีในประเทศไทย
ในดินแดนประเทศไทย ได้มีการค้นพบอารยธรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์กระจายอยู่ทั่วไป เรียกว่า แหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่
- แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
- แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
- แหล่งโบราณคดีพงตึก ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
แหล่งโบราณคดีเหล่านี้มีการขุดค้นพบ โครงกระดูกมนุษย์ โลงไม้ เครื่องมือหินกะเทาะ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด และเหล็ก
ขณะที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO)
แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย
คนไทยมาจากไหน เป็นหนึ่งในคำถามที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอน แต่ก็ได้มีนักวิชาการ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ ได้ทำการศึกษาจนสามารถสรุปแนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยไว้ ดังนี้
- แนวคิดที่ 1 ชนชาติไทยอาศัยอยู่แถบเทือกเขาอัลไตบริเวณเอเชียกลาง ตอนเหนือของประเทศจีน
- แนวคิดที่ 2 ชนชาติไทยอาศัยอยู่แถบบริเวณมณฑลเสฉวน ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ตอนกลางของประเทศจีน
- แนวคิดที่ 3 ชนชาติไทยอาศัยอยู่กระจายทั่วไปทางตอนใต้ของประเทศจีน
- แนวคิดที่ 4 ชนชาติไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
- แนวคิดที่ 5 ชนชาติไทยอาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะทางใต้
อาณาจักรโบราณต่างๆ ในดินแดนประเทศไทย
ดินแดนประเทศไทยประกอบด้วยอาณาจักรโบราณต่างๆ ประกอบด้วย
ทวารวดี
ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองหลวงอาจอยู่ที่นครปฐม หรือสุพรรณบุรี หรือลพบุรี ยังไม่เป็นที่แน่ชัด พบเหรียญเงินจารึกด้วยภาษาสันสกฤตที่นครปฐม สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี มีข้อความว่า “ศรีทวารวดีศวรปุณยะ” ซึ่งแปลได้ว่า “บุญกุศลของผู้เป็นเจ้าแห่งศรีทวารวดี” ศิลปกรรมที่พบได้แก่ ธรรมจักรและกวางหมอบ พระพิมพ์
ละโว้
คือลพบุรีในเวลาต่อมา รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรเขมร ศิลปกรรมที่พบได้แก่ รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปนาคปรก พระปรางค์สามยอด
โยนกนคร
ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของไทยในปัจจุบัน ศูนย์กลางคือเมือง “เชียงแสน” (เชียงราย) ต่อมาพญามังรายทำศึกสงครามขยายอาณาเขต ย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่ “นพบุรีศรีนครพิงค์” หรือ “เชียงใหม่” เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร “ล้านนา” มีความเจริญทางวัฒนธรรม มีตัวหนังสือเป็นของตนเอง เรียกว่า “อักษรธรรมล้านนา” หรือ “ตัวเมือง” คือตัวอักขระแบบเมือง ใช้ในการจารึกพระไตรปิฎก ถือเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา ศิลปกรรมที่พบได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา
หริภุญชัย
ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลำพูน หริ หมายถึง พระวิษณุ ในตำนานจามเทวีวงศ์ ได้กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัยว่า มีการเชิญพระนางจามเทวี ธิดากษัตริย์มอญจากเมืองละโว้ให้มาครองเมือง ต่อมาพระนางได้สร้างเขลางค์นครขึ้นมาอีกเมืองหนึ่ง ปัจจุบันคือ ลำปาง ศิลปกรรมที่พบได้แก่ เจดีย์กู่กุด พระธาตุหริภุญชัย พระพิมพ์ดินเผา
ตามพรลิงค์ หรือ นครศรีธรรมราช
ตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของไทย หรือคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน คำว่า “ลิงค์” คือ “ลึงค์” หรืออวัยวะเพศ “ตามพ” คือทองแดง สันนิษฐานว่าหมายถึง “ศิวลึงค์” ในคติพราหมณ์ไศวะนิกาย ภายหลังเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ตามจดหมายเหตุของจีนเรียกแคว้นนี้ว่า ตันเหมยหลิง ศิลปกรรมที่พบได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์ ศิวลึงค์
ศรีวิชัย
ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของไทย ปรากฏชื่อในบันทึกของหลวงจีนอี้จิงว่า ชิลิโฟชิ (Shih-Li-Fo-Shih) คือ เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน ศิลปกรรมที่พบได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระบรมธาตุไชยา สถูปเจดีย์ทรงกลม
ศรีโคตรบูร
ตั้งอยู่ที่บริเวณภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน มีศูนย์กลางอยู่ที่นครพนม โบราณสถานทางพระพุทธศาสนาที่พบคือ พระธาตุพนม
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง