ประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-10-12 14:44:08
พระพุทธศาสนาเป็นชุมชนที่มีสมาชิกอยู่รวมกันเป็นหมู่ โดยเฉพาะพระสงฆ์ จึงต้องมีการบริหารจัดการกิจการภายในให้เรียบร้อย เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ก็ต้องมีวิธีระงับเหตุที่เหมาะสม ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ต่อเมื่อทรงเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว ทรงยกพระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาแทน รวมทั้งมีการใช้มติของที่ประชุมสงฆ์เป็นการตัดสิน จึงเห็นได้ว่า รูปแบบการปกครองที่พบได้ในศาสนาพุทธ มีทั้งที่เป็นแบบราชาธิปไตย ธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตย
ส่วนด้านความเสมอภาคนั้น ศาสนาพุทธมองข้ามเรื่องชนชั้น วรรณะ รวมทั้งอายุของคนที่จะมาขอบวช แต่นับพรรษาของผู้ที่บวชมาก่อนว่าเป็นผู้มีอาวุโสมากกว่า ถือว่าเรียนมามากกว่า ผู้ที่มีพรรษาน้อยกว่าต้องวันทา จึงเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธส่งเสริมความเสมอภาคของผู้คน แต่ก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาเล่าเรียน การฝึกฝนปฏิบัติ ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนคู่ควรแก่การเคารพยกย่องเช่นกัน
นอกจากนี้ ลักษณะสำคัญที่แสดงความเป็นประชาธิปไตยของพระพุทธศาสนาได้แก่ การปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงให้คณะสงฆ์ถือพระธรรมวินัยเป็นหลักหลังจากพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว โดยไม่มีการตั้งรูปหนึ่งรูปใดขึ้นมาแทนพระองค์เองในฐานะประมุขสงฆ์ และใช้มติในที่ประชุมสงฆ์เป็นการตัดสินชี้ขาดในการบริหารจัดการ ซึ่งนับเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยโดยมีธรรมาธิปไตยเป็นแกน
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้คนในสังคมเลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ เพราะเหตุแห่งชาติและตระกูล โดยให้ดูที่การกระทำของคนผู้นั้นเป็นสำคัญ
พระพุทธองค์ทรงประทานหลักความเสมอภาคกันในการปกครองของคณะสงฆ์ คือ ไม่ว่าใครจะเกิดในตระกูลใด วรรณะใดก็ตาม เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมมีความเสมอภาคกัน
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง