www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม > มัธยมปลาย

มารยาทชาวพุทธ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-09-28 14:44:23

มารยาทชาวพุทธเป็นสิ่งที่เกิดจากการหล่อหลอมทางศาสนา และวัฒนธรรมมาแต่โบราณ เป็นการผสมผสานกันระหว่างคำสอน คติความเชื่อ และรูปแบบการปฏิบัติในศาสนาพุทธ กับวัฒนธรรมประเพณีของชนชาติ ที่ถ่ายทอดส่งมากันมาจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นมารยาทของชาวพุทธเราที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้อบรมกุลบุตร และกุลธิดาให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ว่านอนสอนง่าย รู้จักสัมมาคารวะ โดยการแสดงความเคารพในศาสนาพุทธจำแนกได้ดังนี้

ภาพ : shutterstock.com

การแสดงความเคารพพระพุทธ

หากเดินผ่าน หรือนั่งรถผ่านพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ ควรทำความเคารพด้วยการไหว้ คือ ยกมือทั้งสองข้างขึ้นประนม น้อมศีรษะลงให้ปลายหัวแม่มือทั้ง 2 จรดระหว่างคิ้ว หากสวมหมวกอยู่ก็ควรถอดหมวกก่อนไหว้แสดงความเคารพ

 

การแสดงความเคารพพระธรรม

หากผ่านพระสงฆ์ขณะที่กำลังแสดงธรรม ควรแสดงความเคารพด้วยการไหว้ หรือหากเวลาฟังธรรมเทศนา ควรแสดงความเคารพโดยการนั่งสงบ ประนมมือตั้งใจฟัง ไม่พูดหรือคุย หรือแสดงกิริยาอาการไม่เรียบร้อย

ภาพ : shutterstock.com

การแสดงความเคารพพระสงฆ์ 

เมื่อไปพบพระสงฆ์ที่วัด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณไหนก็ตาม ถ้ามีพระพุทธรูปอยู่ในที่นั้นด้วย ให้กราบพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงกราบพระสงฆ์เป็นลำดับต่อไป การกราบพระพุทธรูป และการกราบพระสงฆ์ ควรกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง

การเจรจากับพระสงฆ์ ควรใช้คำพูดที่แสดงความเคารพ ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์เป็นปูชนียบุคคล การรับสิ่งของจากพระสงฆ์ สำหรับผู้หญิงจะรับสิ่งของกับมือพระสงฆ์โดยตรงไม่ได้ เนื่องจากมีข้อวินัยห้ามไว้ ไม่ให้พระสงฆ์สัมผัสหรือถูกต้องตัวสตรี จึงต้องนำไปวางบนผ้าที่พระสงฆ์ยื่นมารับสิ่งของเท่านั้น

 

คำศัพท์ที่ใช้เฉพาะกับพระภิกษุสามเณรที่ควรทราบ เช่น

      - เชิญ ใช้คำว่า “นิมนต์” และ “อาราธนา”
      - รับประทาน ใช้คำว่า “ฉัน” (สำหรับพระสงฆ์ทั่วไป) และ “เสวย” (สำหรับสมเด็จพระสังฆราช)
      - นอน ใช้คำว่า “จำวัด”
      - ไหว้พระสวดมนต์ ใช้คำว่า “ทำวัตร”
      - อาหาร ใช้คำว่า “ภัตตาหาร”
      - เรือนหรือตึกที่อยู่ ใช้คำว่า “กุฏิ”
      - เจ็บป่วย ใช้คำว่า “อาพาธ”
      - ตาย ใช้คำว่า “มรณภาพ” (สำหรับพระสงฆ์ทั่วไป) และ “สิ้นพระชนม์” (สำหรับสมเด็จพระสังฆราช)

การเป็นชาวพุทธที่ดีตามหลักทิศ 6

ในพระพุทธศาสนาได้เปรียบเทียบบุคคลต่างๆ ที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย กับทิศที่อยู่รอบตัวทั้ง 6 ทิศ ดังนี้

1. ปุรัตถิมทิส/ทิศเบื้องหน้า หมายถึง บิดา มารดา หน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรคือ การสั่งสอนบุตร ส่วนบุตรก็ต้องตอบแทนพระคุณของบิดามารดา ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
2. ทักขิณทิส/ทิศเบื้องขวา หมายถึง ครูบาอาจารย์ หน้าที่ที่ครูมีต่อศิษย์ คือสั่งสอนและฝึกฝนให้เป็นคนดี สอนวิชาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ส่วนหน้าที่ของศิษย์ที่มีต่อครูคือ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เคารพครู รู้คุณครู
3. ปัจฉิมทิส/ทิศเบื้องหลัง หมายถึง สามี หรือ ภรรยา หน้าที่ที่สามีและภรรยาพึงมีต่อกัน คือการไว้ใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือจุนเจือในการสร้างครอบครัว
4. อุตตรทิส/ทิศเบื้องซ้าย หมายถึง เพื่อน มิตร หน้าที่ของเพื่อนที่พึงมีต่อกันคือ การมีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
5. เหฎฐิมทิส/ทิศเบื้องล่าง หมายถึง บริวาร ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา หน้าที่ของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้างคือ การดูแลสวัสดิการ การให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ส่วนหน้าที่ของลูกจ้างที่มีต่อนายจ้าง คือ การตั้งใจทำงานอย่างเต็มความสามารถ
6. อุปริมทิส/ทิศเบื้องบน หมายถึง สมณะ (พระสงฆ์) หน้าที่ที่คฤหัสถ์มีต่อพระสงค์คือ การแสดงความเคารพ ทั้งกายและใจ น้อมนำคำสอนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ส่วนหน้าที่ที่พระสงฆ์มีต่อคฤหัสถ์คือ การสั่งสอนแนวทางในการดำเนินชีวิต และเป็นแบบอย่างในการรักษาศีล

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง