www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม > มัธยมปลาย

สังคมมนุษย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-09-28 12:07:54

สังคม หมายถึง กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ร่วมกัน มีระเบียบกฎเกณฑ์ร่วมกัน แต่ก็สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมได้ โครงสร้างสังคมประกอบด้วย การมีดินแดนอยู่ร่วมกันอย่างถาวร, มีวัฒนธรรม และมีความสัมพันธ์กัน ทุกสังคมมีหน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่, ให้การพึ่งพาอาศัยกัน รวมถึงอบรมสั่งสอนสมาชิกที่เรียกว่า การขัดเกลาทางสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความจำเป็นในการอยู่รวมกันทั้งเพื่อความอยู่รอดทางกายภาพ และเพื่อความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ

ภาพ : shutterstock.com

โครงสร้างสังคม

โครงสร้างสังคม เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสังคม ที่เกี่ยวกับแบบแผนความสัมพันธ์ของบุคคลและกลุ่มสังคม โครงสร้างสังคมมีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่

1. การจัดระเบียบทางสังคม เป็นกระบวนการในการจัดความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมให้เกิดความเป็นระเบียบ กลไกเครื่องมือในการจัดระเบียบทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่

       - ค่านิยม เป็นพฤติกรรมบางอย่างที่สังคมมองว่าพึงกระทำ ค่านิยมจึงเป็นแบบแผนในการให้คุณค่าพฤติกรรมใดว่าพึงกระทำ
       - บรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติตนของคนในสังคม คนในสังคมยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน โดยที่แต่ละสังคมก็จะมีบรรทัดฐานที่แตกต่างกันออกไป บรรทัดฐานประกอบด้วย วิถีประชา หรือวิถีชาวบ้าน เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร การแต่งกายด้วยสีดำเวลาไปงานศพ
       - จารีต เป็นระเบียบแบบแผนความประพฤติที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานอย่างเข้มงวด เช่น ชาวมุสลิมห้ามดื่มสุรา บุตรต้องเชื่อฟังต่อบิดามารดา
       - กฎหมาย เป็นข้อบังคับของรัฐ

2. สถาบันทางสังคม เป็นแบบอย่างพฤติกรรมที่ตั้งขึ้น ปฏิบัติสืบต่อกันมา องค์ประกอบของสถาบันทางสังคม ได้แก่ กลุ่มบุคคล สถานที่ สัญลักษณ์ แบบแผนการปฏิบัติ กฎเกณฑ์ และหน้าที่

สถาบันทางสังคมที่เป็นพื้นฐานของสังคม แบ่งได้เป็น

 

สถาบันทางสังคม

องค์ประกอบ

หน้าที่

สถาบันครอบครัว

พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ญาติ

  • การผลิตสมาชิกใหม่ให้สังคม, การขัดเกลาทางสังคมให้แก่สมาชิก, การให้ความปลอดภัยคุ้มครอง

สถาบันเศรษฐกิจ

ผู้ผลิต, ผู้บริโภค

  • การผลิตสินค้า, ดำเนินการทำให้สินค้าและบริการถึงผู้บริโภค

สถาบันการศึกษา

ครู, นักเรียน, ผู้ปกครอง, นักการ, ชุมชน

  • ถ่ายทอดความรู้, ดำรงรักษาวัฒนธรรม, พัฒนาบุคคลให้มีความรู้และคุณธรรม

สถาบันการเมืองการปกครอง

ประชาชนผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย, รัฐสภา, เจ้าหน้าที่บ้านเมือง

รักษาความสงบในสังคม, ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย, กำหนดนโยบายการปกครอง

สถาบันศาสนา

ศาสนิกชน, นักบวชของแต่ละศาสนา, ผู้ประกอบพิธีกรรม

  • เป็นศูนย์รวมความศรัทธา, ควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม, เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

สถาบันนันทนาการ

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ, ชมรมที่เกี่ยวข้องกับการนันทนาการ

  • เสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจ, การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์, การยอมรับในกฎ กติกา

สถาบันสื่อสารมวลชน

นักข่าว, นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร

  • การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน, การให้ความบันเทิง, การให้ข้อคิดเชิงวิเคราะห์

 

การขัดเกลาทางสังคม

เป็นกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานภาพและบทบาท มีอยู่ 2 วิธี คือ

       - การขัดเกลาทางตรง เป็นการจัดระเบียบโดยตรง ทั้งการว่ากล่าวสั่งสอน อบรมแนวทางการปฏิบัติ
       - การขัดเกลาทางอ้อม เป็นการเรียนรู้โดยการสังเกต เลียนแบบ โดยมีครอบครัว กลุ่มเพื่อน ครูอาจารย์ เป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่ขัดเกลาทางสังคม

 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสังคม เช่น ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น, ครอบครัวมีขนาดเล็กลง

ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับวัตถุ วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น การใช้โทรศัพท์แทนโทรเลข, ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ลดน้อยลง

ส่วนกระบวนการเปลี่ยนแปลงร่วมสมัย เช่น Urbanization คือกระบวนการกลายเป็นเมือง หรือ Globalization คือโลกาภิวัตน์ เป็นต้น

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง