www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม > มัธยมปลาย

วัฒนธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-09-28 11:39:33

วัฒนธรรม มีทั้งประเภทที่เป็นแบบแผนทางความคิด ความเชื่อ รูปแบบการดำเนินชีวิต และประเภทที่เป็นวัตถุสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ วัฒนธรรมสามารถแปรเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของยุคสมัย ลักษณะของวัฒนธรรมไทยมีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูง เกิดจากการนำวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกมาใช้ หรือผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม

ภาพ : shutterstock.com

ลักษณะของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมเกิดจากการประดิษฐ์ของมนุษย์ ทั้งพิธีกรรม ความเชื่อ แบบแผนการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ภูมิศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ การเมือง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตามยุคสมัย วัฒนธรรมจึงมีความหลากหลาย แม้แต่ในประเทศเดียวกัน ก็ยังมีวัฒนธรรมหลัก และวัฒนธรรมรอง

ประเภทของวัฒนธรรม แบ่งได้ดังนี้

1. วัตถุธรรม ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น
2. วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ แบ่งได้ดังนี้

    - คติธรรม ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู
    - เนติธรรม ได้แก่ กฎหมาย จารีต ระเบียบข้อบังคับ
    - สหธรรม ได้แก่ มารยาท การทักทาย

 

ลักษณะของวัฒนธรรมไทย

สังคมไทยกล่าวได้ว่ามีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูง กล่าวคือ เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย กระนั้น ก็ยังมีการแสดงออกถึงความเชื่อ ค่านิยม ประเพณีต่างๆ ที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ โดยลักษณะเด่นของวัฒนธรรมไทยมีดังนี้

    - ความเชื่อในเรื่องกรรม กล่าวคือ การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
    - การยึดมั่นและจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์
    - มีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ
    - ผูกพันกับวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม
    - การดำเนินชีวิตตามแบบแผนประเพณีและพิธีกรรม อาทิ การทำบุญวันเกิด พิธีแต่งงาน การอุปสมบท
    - การดำเนินชีวิตแบบสบายๆ ไม่ได้ยึดมั่นในหลักการใดๆ สักเท่าไร

 

ความสอดคล้องระหว่างวัฒนธรรมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีความคล้ายคลึงกัน จึงทำให้วัฒนธรรมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอยู่อาศัย และอาหารการกิน เช่น การสร้างบ้านเรือนที่นิยมใช้ไม้ หลังคามุงด้วยจากหรือใบไม้ ส่วนอาหารมีการนำสมุนไพรมาปรุงเป็นอาหาร เครื่องเคียงประกอบด้วยผักนานาชนิด หรืออาหารมีส่วนผสมของเครื่องเทศอยู่ด้วย เช่น ต้มยำกุ้ง สะเต๊ะ ต้มข่าไก่

ภาพ : shutterstock.com

ความสอดคล้องและความแตกต่างระหว่าง วัฒนธรรมไทย กับ วัฒนธรรมสากล

คนไทยมีการนำวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกมาใช้ หรือรับมาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม จึงทำให้วัฒนธรรมหลายๆ อย่างมีร่องรอยจากวัฒนธรรมตะวันตก เช่น

    - ที่อยู่อาศัย ที่ปรับเป็นการสร้างบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูน หลังคามุงกระเบื้อง
    - การรักษาโรค จากเดิมที่ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็น ขมิ้น ดอกคำฝอย บอระเพ็ด กระชาย มาเป็นการแพทย์แผนตะวันตก เช่น วัคซีน ยาปฏิชีวนะ การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย
    - ด้านอาหาร อาหารจานหลักของคนไทยคือ ข้าว ทั้งข้าวเหนียว และข้าวเจ้า กินกับอาหารไม่ว่าจะเป็นแกงไตปลา น้ำพริกอ่อง ผักลวก มาเป็นอาหารจานด่วนเพื่อความสะดวกคล่องตัว เพราะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
    - การแต่งกาย จากเดิมที่ในแต่ละท้องถิ่นมีการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ นำมานุ่งห่ม มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มาเป็นเสื้อผ้าการแต่งกายตามสากลนิยม จากทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น หรือยุโรป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากกระแสของโลกาภิวัตน์

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง