www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม > มัธยมปลาย

การประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-09-28 11:27:56

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นการแลกเปลี่ยนปฎิสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนของรัฐ ความสัมพันธ์นี้มีทั้งลักษณะของความร่วมมือ และความขัดแย้งระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ในลักษณะของความร่วมมือนั้น ก็เพื่อประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือการศึกษา

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึงกิจกรรมระหว่างกลุ่มคนที่เกิดขึ้นข้ามเขตแดนประเทศ เช่น ถ้าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนไทยด้วยกันในประเทศ จะไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเชื้อสายจีนที่อยู่คนละประเทศ อาจถือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

 

ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ

1. แบบร่วมมือกัน เพื่อประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงออกผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดี หรือการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ

2. แบบขัดแย้งกัน อันเป็นผลจากการที่ไม่สามารถประสานประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งแสดงออกผ่านการใช้สื่อโจมตีอีกประเทศหนึ่ง หรือการก่อสงคราม

ภาพ : shutterstock.com

 

การประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ

การประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ คือการตกลงทำข้อผูกพันร่วมกันในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดความั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีการแบ่งผลประโยชน์และแลกเปลี่ยนความก้าวหน้า รวมทั้งความรู้ด้านข่าวสารต่างๆ ต่อกัน

รัฐบาลไทยมีวิธีการ และเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินการทางการทูต, การค้าขายระหว่างประเทศ, การช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ, การลงทุนร่วมกัน เป็นต้น ทั้งเพื่อให้ประเทศคงไว้ซึ่งอธิปไตย รวมถึงรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน

 

นโยบายต่างประเทศที่สำคัญของไทย ประกอบด้วย

- การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ
- การสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ
- การให้ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
- การสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
- การปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งภาคเอกชนและแรงงานชาวไทย
- การสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

 

การแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมด้านวัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม

ประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ในการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านวัฒนธรรม, การศึกษา, เศรษฐกิจ, สังคม ซึ่งมีลักษณะความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้ 

- ด้านวัฒนธรรม เช่น การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีงาม 
- ด้านการศึกษา เช่น การให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยน, การสร้างความร่วมมือและเครือข่ายทางการศึกษา
- ด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ, การเปิดเขตการค้าเสรี, การให้กู้ยืมแบบคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ
- ด้านสังคม เช่น การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคระบาด, ปัญหาภัยพิบัติ, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาการก่อการร้าย เป็นต้น

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง