ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-09-28 11:14:11
อำนาจอธิปไตยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบการปกครอง ตัวอย่างเช่น ในระบอบเผด็จการ อำนาจอธิปไตยเป็นของคณะบุคคล คือ บุคคลกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนเป็นผู้มอบอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ (ชั่วคราว) ให้รัฐบาล เป็นต้น ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงมีฐานะและพระราชอำนาจตามที่บัญญัติไวในรัฐธรรมนูญ
รัฐ
รัฐ หมายถึง ชุมชนทางการเมือง ในดินแดนที่มีขอบเขตแน่นอน มีประชากรในจำนวนที่เหมาะสม โดยมีรัฐบาลปกครอง และมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง อำนาจอธิปไตยจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของความเป็นรัฐ เพราะการจะเป็นรัฐได้นั้น จะต้องมีอำนาจในการปกครองตนเองเสียก่อน
รัฐแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. รัฐเดี่ยว คือ มีรัฐบาลชุดเดียวเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ตัวอย่างประเทศ เช่น ไทย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, บรูไน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์, อินโดนีเซีย
2. รัฐรวม คือ มีรัฐบาล 2 ระดับได้แก่ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ตัวอย่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, ออสเตรเลีย, แคนาดา, สวิสเซอร์แลนด์, มาเลเซีย
รูปแบบการปกครอง
รูปแบบการปกครองที่สำคัญในปัจจุบัน มี 2 ระบอบคือ ระบอบประชาธิปไตย กับระบอบเผด็จการ โดยระบอบประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นที่นครรัฐเอเธนส์ ประเทศกรีกโบราณ
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเน้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่ การเข้ามีส่วนร่วมในกลุ่มผลประโยชน์, การเข้ามีส่วนร่วมในพรรคการเมือง, การเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง, การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี โดยประเทศไทยมีลักษณะการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ตามแบบประเทศอังกฤษ
ส่วนแนวคิดสำคัญของระบอบเผด็จการ คือ ประชาชนเพื่อรัฐ ซึ่งแตกต่างจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เน้นแนวคิดแบบ รัฐเพื่อประชาชน ระบอบการปกครองแบบเผด็จการมี 2 ประเภท ได้แก่
- เผด็จการแบบอำนาจนิยม ที่รัฐบาลควบคุมกิจการทางการเมืองทั้งหมด แต่ไม่ควบคุมสถาบันและองค์กรทางสังคม ประชาชนจึงยังมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนา ครอบครัว เศรษฐกิจ สามารถดำเนินชีวิตส่วนตัวโดยมีอิสระพอสมควร
- เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนิยม ที่รัฐบาลควบคุมกิจกรรมทางการเมือง และส่วนที่ไม่ใช่การเมืองทั้งหมด ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง เพราะต้องปฏิบัติตามอุดมการณ์ที่รัฐกำหนด
การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประเทศไทยจัดเป็นรัฐเดี่ยว แต่ก็มีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ในรูปแบบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นประมุขของประเทศ โดยทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านองค์กรทางการเมือง ดังนี้
- ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา
- ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
- ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
ฐานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติเกี่ยวกับฐานะ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ดังนี้
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ อาทิ พระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชอำนาจในการเลือก แต่งตั้ง หรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
เรียบเรียบโดย : นำโชค อุ่นเวียง