www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > มัธยมปลาย

การใช้ภาษาในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-29 23:19:58

ภาษาไทยของเราเป็นภาษาที่มีหลายระดับ การจะเลือกใช้ภาษาระดับใดในการสื่อสาร ขึ้นอยู่กับคู่สนทนาว่าเป็นใคร โดยทั่วไปแล้ว ในการสื่อสารอย่างเป็นทางการนั้นต้องใช้ภาษาระดับทางการ มีความสุภาพ แต่หากเป็นการสนทนากับคนสนิท เป็นการส่วนตัวก็ล้วนแต่ใช้ภาษาปาก ซึ่งในปัจจุบันนี้ ขอบเขตของระดับภาษามีความเลือนลางมากขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้พื้นที่การสนทนาส่วนตัวบางครั้งก็กลายเป็นพื้นที่สาธารณะด้วย ภาษาในการสื่อสารที่ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเช่นภาษาในสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษา

ภาพ : shutterstock.com

สื่อสิ่งพิมพ์

สื่อสิ่งพิมพ์ หมายถึง สื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ โฆษณา นิตยสาร วารสาร สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น

หนังสือพิมพ์ หมายถึง สิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่งที่มีกำหนดตีพิมพ์เผยแพร่รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือประจำรอบตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ไม่เย็บเล่ม และไม่มีปก เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งนำเสนอข่าวสารต่างๆ มีการใช้ภาษาที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อเสนอข่าวให้น่าสนใจ สะดุดใจผู้อ่าน เนื้อหาข่าวในหนังสือพิมพ์ประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นปะปนกัน ซึ่งข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นแตกต่างกันดังนี้

 

ข้อเท็จจริง

หมายถึง ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเป็นอยู่ตามจริง ข้อความอาจเป็นจริงหรือเป็นเท็จก็ได้ ถ้าเป็นจริงหมายถึงข้อความตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ถ้าเป็นเท็จหมายถึงข้อความไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จะเห็นได้ว่า ลักษณะเด่นของข้อเท็จจริงก็คือ จะต้องถูกตรวจสอบหรือพิสูจน์ได้เสมอว่าจริงหรือเท็จ เช่น

“สมัยกรุงธนบุรีมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว” ข้อความนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ โดยตรวจสอบจากบันทึกข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร (ซึ่งจะพบว่าข้อความนี้เป็นจริง)

“ตอนนี้พิชัยมีเงินในกระเป๋าอยู่ 2 พันบาท” ข้อความนี้สามารถพิสูจน์จริงหรือเท็จได้โดยค้นดูกระเป๋าเงินของพิชัย

“คัมภีร์ไบเบิลบันทึกว่า พระเจ้าสูงสุดมี 3 พระองค์” ข้อความนี้พิสูจน์ได้โดยตรวจสอบข้อความที่บันทึกไว้ในไบเบิล (ซึ่งจะพบว่าข้อความนี้เป็นเท็จ) ดังนี้เป็นต้น

สรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงคือข้อความที่พิสูจน์ได้ โดยอาจพิสูจน์ว่าจริงก็ได้ หรืออาจพิสูจน์ว่าเท็จก็ได้ แต่ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจเป็นทั้งจริงและเท็จพร้อมกัน และไม่อาจเป็นทั้งไม่จริงและไม่เท็จ จะต้องมีค่าความจริงเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ต่างจากข้อคิดเห็นที่ไม่มีค่าความจริง ไม่อาจพิสูจน์หรือบอกได้ว่าจริงหรือเท็จ

 

ข้อคิดเห็น

หมายถึง ความเห็น ความรู้สึกนึกคิดของผู้ส่งสารที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหา ซึ่งไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ เป็นทรรศนะหรือความเห็นส่วนตัวเท่านั้น อาจเป็นการให้ค่ากับเรื่องราวต่างๆ ด้วยมุมมองของผู้เขียน เช่น

“มวยไทยเป็นศิลปะป้องกันตัวที่ดีที่สุดในโลก” ข้อความนี้เป็นเพียงข้อคิดเห็นเท่านั้น เพราะไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ เนื่องจากคำว่า “ดีที่สุด” มีความคลุมเครือว่าหมายถึงอะไร

ถ้าจะเปลี่ยนข้อความนี้ให้เป็นข้อเท็จจริง ต้องกำหนดให้ชัดลงไปว่า เกณฑ์ในการตัดสินว่า “ดีที่สุด” คืออย่างไร เช่น ศิลปะการต่อสู้ที่ดีที่สุดคือ ศิลปะการต่อสู้ที่มีอัตราการชนะสูงที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนครั้งในการต่อสู้ที่เท่ากัน ซึ่งก็อาจจะต้องไปรวบรวมสถิติการเปรียบมวยของทั้งโลกตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมาดู เป็นต้น

 

ลักษณะเด่นของการใช้ภาษาหนังสือพิมพ์

1. ใช้ภาษาแปลกใหม่เพื่อให้สะดุดตา สะดุดใจ และจำง่าย เป็นการเรียกร้องความสนใจ โดยเฉพาะส่วนพาดหัวข่าว ตัวอย่างเช่น

“บิ๊กเปย ฮึ่ม! นักการเมืองล้วงลูก”
“ส่อแววโอละพ่อ สาวแจ้งจับโจ๋บุกปล้ำ”
“ปูดค่าตัวงูเห่าย้ายมุ้ง 120 ล้าน”

2. มีการใช้ภาษาปากมากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ต้องเสนอข่าวสารและเหตุการณ์ให้ผู้อ่านรู้สึกสดใหม่ ทันข่าว ทันเหตุการณ์ มีความรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้น อีกทั้งเพื่อให้ผู้อ่านทุกระดับเข้าใจได้ในทันที ภาษาปากจึงถูกนำมาใช้มากเพราะเป็นคำพื้นๆ เข้าใจได้ชัดเจน ภาษาปากได้แก่คำเฉพาะกลุ่ม คำตลาด คำคะนอง สำนวน และคำทับศัพท์

ตัวอย่างภาษาปาก

“ย้ายสารวัตรคนดัง เซ่นคดีส่วย
“ครูยืนยัน เป็นเจ้าของหวย 30 ล้าน”
“พริตตี้ดังแฉยับบาร์ฉาว”

3. บางครั้งใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย เหตุผลที่ภาษาในหนังสือพิมพ์ต้องใช้คำฟุ่มเฟือย เนื่องจากต้องการขยายรายละเอียดของข่าวหรือเหตุการณ์ให้ชัดเจน และต้องการให้ข้อความมีความยาวพอเหมาะกับเนื้อที่ของกระดาษ

4. บางครั้งใช้ถ้อยคำรวบรัด ในกรณีที่พื้นที่หน้ากระดาษมีจำกัด อย่างเช่น ในส่วนของพาดหัวข่าว ก็จำเป็นต้องใช้ภาษาที่สั้น กระชับ และชัดเจน เช่น

“วิสามัญโจรเหี้ยมชิงทองกลางห้างดัง”
“สิบล้อโวยตำรวจยัดยาบ้า”

5. มีการใช้ตัวย่อมาก เนื่องจากความจำเป็นในเรื่องของเวลาที่เร่งรัด และความกำจัดของพื้นที่ข่าว เมื่อผนวกกับคำบางคำที่ยาวมาก จึงต้องเลือกใช้ตัวย่อแทน ตัวย่อบางคำเป็นการย่อกันเอง ไม่ใช่คำย่อที่เป็นทางการ

ตัวอย่างคำย่อ

“ฝนถล่ม กทม. จมใต้บาดาล”
“ชาวนาโอด ขอผลัดชำระหนี้ ธ.ก.ส.”
“เผยมติ ครม. รับมือฝุ่นพิษ”

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง สื่อที่รับส่งข้อมูลสารสนเทศด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการรับส่งหรือบันทึกอักขระแบบดิจิตอล ไม่สามารถอ่านได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องแปลรหัสอย่างคอมพิวเตอร์ในการอ่าน และบันทึกข้อมูล มักจะอยู่ในลักษณะของสื่อประสม หรือมัลติมีเดีย (Multimedia) แสดงผลออกมาหลายรูปแบบ เช่น เป็นภาพเคลื่อนไหว มีเสียงประกอบ

ภาษาที่ใช้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ควรเป็นภาษาทางการหรือภาษาเขียนเท่านั้น ยกเว้นถ้าเป็นการพูดคุยกับเพื่อนสนิทที่เป็นการส่วนตัว ก็อาจใช้ภาษาพูดได้

ภาษาที่ใช้ในการคุยกับเพื่อนสนิท หรือใช้ภายในกลุ่มเฉพาะ มักใช้ภาษาปาก คำแสลง คำที่แผลงไปจากภาษาปกติ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น

“วันพะหัดนี้จะไปเดินงานกะเสด เทอจะไปด้วยกันมั้ย” หรือ “เทอไปช่ะ? เด๋วดูก่อนว่าว่างป่าว”

บางครั้งการดัดแปลงภาษาในการคุยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้คำสั้นลงและง่ายในการสื่อสาร แต่เป็นไปตามกระแสนิยมของวัยรุ่นที่นิยมการใช้ภาษาวิบัติ คำที่จงใจสะกดให้ผิด เช่น “เพิ่ล-เพื่อน”, “ขุ่นแม่-คุณแม่”, “ตั้ลล้าก-น่ารัก”, “น่าวงวาร-น่าสงสาร”, “เมพ-เทพ(เก่ง)”, “ลาก่อย-ลาก่อน”, “อัลไล-อะไร” เป็นต้น

 

ภูมิปัญญาทางภาษาในท้องถิ่น

ภูมิปัญญา หมายถึง ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความสามารถ ประสบการณ์ต่างๆ ที่คนรุ่นเก่าสั่งสมและถ่ายทอด สืบทอดกันมาแต่อดีต ความหมายโดยรวมคือ รากเหง้าของความคิดความเชื่อของบรรพบุรุษที่ต้องการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ประสบการณ์ไว้ในภาษาและวรรณกรรมต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอน ให้ข้อคิดและคติเตือนใจ เพื่อให้ลูกหลานใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมต่อไป

ประเภทของภูมิปัญญาทางภาษา

1. เพลงพื้นบ้าน หรือเพลงชาวบ้าน ได้แก่

- เพลงกล่อมเด็ก ใช้ร้องเพื่อกล่อมเด็กให้นอนหลับง่าย ไม่โยเย
- เพลงปลอบเด็ก เป็นเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องเล่นกับเด็กเพื่อปลอบหรือหยอกเด็กเป็นเพลงสั้นๆ เช่น เพลงตั้งไข่ เพลงโยกเยก
- เพลงร้องเล่น เป็นเพลงที่เด็กร้องเล่นกับเพื่อนๆ อาจจะเป็นการล้อเลียนหรือเพื่อความสนุกสนาน เช่น เพลงหัวล้าน เพลงผมเปีย
- เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เป็นเพลงที่ร้องประกอบการละเล่นของเด็กๆ เช่น เพลงรีๆ ข้าวสาร เพลงมอญซ่อนผ้า
- เพลงปฏิพากย์ หมายถึง เพลงที่ร้องโต้ตอบกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยใช้ปฏิภาณไหวพริบหรือที่เรียกว่า “ร้องแก้” นั่นเอง เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เป็นต้น

2. ปริศนาคำทาย (อะไรเอ่ย)

เป็นการละเล่นถามคำถาม โดยผูกถ้อยคำเป็นปริศนา ผู้ถามใช้ภาษาที่มีความหมายแฝง ความหมายโดยนัย ผู้ทายปัญหาจะต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในการตีความภาษา คิดหาคำตอบ

3. นิทานพื้นบ้าน

เป็นนิทานประเภทหนึ่ง เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา ในสังคมหลายวัฒนธรรมมีนิทานหรือเรื่องเล่าสู่กันฟังจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมักเป็นเรื่องราวจากจินตนาการหรือความเชื่อของชาวบ้าน เรียกว่า “นิทานพื้นบ้าน”

นิทานพื้นบ้านมักได้รับการบันทึก หรือตีพิมพ์ในภายหลัง และมักหาต้นกำเนิดไม่ได้ บ้างมีการแต่งแต้มเรื่องราวเพิ่มเติมตามจินตนาการของผู้เล่า ตัวอย่างนิทานพื้นบ้านของไทย ได้แก่ พิกุลทอง, พญาคันคาก, แก้วหน้าม้า, ปลาบู่ทอง เป็นต้น

4. สำนวน สุภาษิต คำพังเพย

สำนวน คือ ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เป็นการกล่าวเพื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ ให้คติหรือแง่คิด เป็นภาษาที่สั้น กระชับ งดงาม คมคาย โดยสำนวนไทยแบ่งได้เป็น คำพังเพยและสุภาษิต

คำพังเพย คือ สำนวนที่ใช้กล่าวเปรียบเปรย มีความหมายเป็นกลางๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่องราวได้ บางทีมีลักษณะเป็นการเสียดสี ประชดประชัน ว่ากล่าว เหมือนเป็นการใช้เพื่อตำหนิ ตักเตือน บางทีเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นภาพพจน์เท่านั้น

สุภาษิต คือ สำนวนที่ใช้กล่าวเพื่อสั่นสอน ชี้นำทางที่ดี สิ่งที่ดี (สุแปลว่าดีงาม) มีความหมายเป็นคติธรรม สุภาษิตมักถูกหยิบยกมาใช้ในงานเขียนร้อยแก้ว ในการเล่านิทานและในการเทศนา

5. ตำนาน

คือเรื่องราวที่มีอายุยาวนาน เป็นเรื่องเก่าแก่ เล่าจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดกันมาแต่โบราณ มักเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับศาสนา ความเชื่อ เป็นเรื่องราวของจุดกำเนิดของบุคคล หรือสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ตำนานสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ตำนานประเภทนิยายประจำท้องถิ่นและตำนานประเภทเทพนิยายที่เรียกว่า “เทพปกรณัม หรือ เทวปกรณ์”

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว