www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > มัธยมปลาย

สำนวนไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-29 22:31:58

ภาษาที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคนนั้น อดไม่ได้ที่จะมีสำนวนและโวหารปรากฏขึ้น สำนวนคือถ้อยคำที่กล่าวกันมาช้านาน เป็นถ้อยคำที่มีความงดงาม สละสลวย หรือคมคาย ให้แง่คิด หรือมีการเปรียบเปรยให้เห็นภาพ เป็นร่องรอยของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น สำนวนช่วยให้การสื่อสารกระชับขึ้นในหมู่คนที่มีบริบทแบบเดียวกัน แต่จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจความหมายในหมู่คนที่มีบริบทต่างกัน อย่างเช่น คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา หรือแม้แต่คนที่มีเชื้อชาติเดียวกันที่เกิดห่างกันหลายชั่วอายุคนก็ตาม จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของสำนวนที่มีมาแต่โบราณ

ภาพ : shutterstock.com

ถ้อยคำ

ถ้อยคำ หมายถึง คำกล่าว เสียงพูดและลายลักษณ์อักษรที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันทั้งในด้านกิจธุระและในด้านกิจการอื่นๆ มีรูปลักษณ์ต่างกันไป ผู้ที่มีความรู้เรื่องถ้อยคำ รู้จักถ้อยคำและเข้าใจความหมายของถ้อยคำได้ดี ก็จะสามารถเลือกถ้อยคำมาใช้ในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ถ้อยคำให้มีประสิทธิผลมีข้อควรคำนึงดังนี้

1. การออกเสียงให้ถูกต้อง หากออกเสียงไม่ถูกต้องอาจจะทำให้ความหมายผิดไปได้
2. การเขียนให้ถูกต้อง หากเขียนสะกดผิดอาจจะทำให้ความหมายผิดไปได้
3. ใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย ถ้าใช้คำผิด ความหมายก็จะผิดไป และคำบางคำอาจมีความหมายโดยตรง ความหมายโดยนัย มีหลายความหมาย มีความหมายใกล้เคียง
4. ใช้คำให้ถูกต้องตามหลักภาษาและหน้าที่ของคำ เช่น การใช้คำอาการนาม การใช้ลักษณะนาม การใช้คำบุพบท การใช้คำสันธาน เป็นต้น
5. ใช้คำให้เหมาะสมกับบุคคล
6. ใช้คำให้เหมาะสมกับโอกาส เช่น โอกาสที่เป็นทางการควรหลีกเลี่ยงการใช้คำภาษาต่างประเทศ คำหยาบ คำสแลง ภาษาพูด ภาษาหนังสือพิมพ์ คำย่อ คำต่างระดับ และภาษาถิ่น ส่วนในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ ใช้คำระดับภาษาปากและคำระดับภาษากึ่งแบบแผนได้
7. ใช้คำที่ชัดเจนไม่กำกวม ใช้คำที่ผู้รับสารรู้ความหมาย ไม่ใช้คำที่มีความหมายกว้างและคำที่มีความหมายไม่แน่นอน เพราะอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร

 

ความหมายของสำนวนไทย

สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงเป็นข้อความ หรือคำพูดที่เป็นชั้นเชิง ไม่ตรงตามรูปแบบภาษา เป็นถ้อยคำหรือคำพูดที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีความหมายเป็นนัยแฝงอยู่ กินความกว้างหรือลึกซึ้ง นำมาใช้ให้มีความหมายแตกต่างไปจากความหมายเดิมของคำๆ นั้น

หรืออาจจะมีความหมายคล้ายกับความหมายเดิมของคำที่นำมาประสมกัน แต่ก็ไม่เหมือนกับความหมายเดิมเสียทีเดียว เป็นความหมายในเชิงอุปมาเปรียบเทียบ  มักใช้ถ้อยคำที่ไม่ยาวมากแต่กินความมาก ใช้คำที่ไพเราะ คมคาย สละสลวย ต้องอาศัยการตีความจึงจะเข้าใจ

 

วิธีการใช้สำนวน

การใช้สำนวนที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน ถูกต้องและรวดเร็ว โดยทั่วไปเราใช้สำนวนเพื่อการสื่อสารในกรณีต่อไปนี้

1. ใช้ในการจูงใจ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ธรรมะย่อมชนะอธรรม คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร เป็นต้น
2. ใช้ย่อข้อความยาวๆ เช่น ขิงก็รา ข่าก็แรง ตัดหางปล่อยวัด จับปลาสองมือ กินเปล่า ชุบมือเปิบ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เป็นต้น
3. ใช้ขยายความหรือเน้นความเข้าใจ เช่น ปิดทองหลังพระ หนีเสือปะจระเข้ ทำคุณบูชาโทษ กินน้ำใต้ศอก เรือล่มในหนองทองจะไปไหน หนูตกถังข้าวสาร เป็นต้น
4. ใช้แทนถ้อยคำที่ไม่ต้องการกล่าวตรงๆ เช่น เฒ่าหัวงู สิ้นบุญ เจ้าโลก บ้านเล็ก ไก่แก่แม่ปลาช่อน โคแก่กินหญ้าอ่อน วัวเคยขาม้าเคยขี่ เป็นต้น
5. ใช้เพิ่มสีสันและความสละสลวยของถ้อยคำในการสื่อสาร เช่น ข้าวแดงแกงร้อน อยู่เย็นเป็นสุข รั้วรอบขอบชิด คลุกคลีตีโมง ขุดบ่อล่อปลา เป็นต้น

 

หลักการร้อยเรียงประโยค

ประโยค คือ กลุ่มคำที่เรียงร้อยกันอย่างมีความหมาย ซึ่งมีไวยากรณ์ควบคุมการเรียงคำแต่ละประเภทตามตำแหน่งต่างๆ

คำในประโยค สามารถจัดแบ่งตามหน้าที่ของคำได้ 7 ประเภท คือ คำนาม (ชื่อ) คำสรรพนาม (คำแทนตัว) คำกริยา (บอกอาการ) คำวิเศษณ์ (บอกคุณสมบัติ) คำบุพบท (บอกกาละและเทศะ) คำสันธาน (คำเชื่อม) และคำอุทาน (แสดงอาการตกใจหรือแปลกใจ)

ประโยคหนึ่งๆ จะประกอบด้วย 2 ส่วนขึ้นไป คือ ภาคประธาน และภาคแสดง และอาจมีส่วนเติมเต็มด้วยก็ได้

1. ภาคประธาน เป็นคำหรือกลุ่มคำที่ระบุถึงสิ่งเดียว หรือหลายสิ่งที่เป็นประธาน หรือผู้แสดงอาการของประโยค ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม โดยมากมักเป็นชื่อหรือชื่อเรียกของสิ่งต่างๆ ภาคประธานจึงมักเป็นคำนามหรือคำสรรพนาม
2. ภาคแสดง เป็นคำหรือกลุ่มคำที่แสดงอาการของประธานของประโยค มักเป็นคำกริยาหรือคำวิเศษณ์
3. ส่วนเติมเต็ม คือคำอื่นๆ ที่มาขยายประโยคให้ได้ใจความมากขึ้น เช่น เป็น “กรรม” ของประโยค พบได้ในประโยคที่ภาคแสดงเป็นกริยาที่ต้องการกรรม เช่นว่า “ฉัน ว่าย น้ำ”

ประโยคหนึ่งๆ เริ่มต้นด้วยภาคประธาน แล้วตามด้วยภาคแสดง จำนวนคำที่สั้นที่สุดที่สามารถเรียงเป็นประโยคในภาษาไทยได้คือ 2 คำ เช่น “หมาตาย” บางครั้งพบกลุ่มคำที่ยาวมาก แต่ไม่อาจนับเป็นประโยคได้ เพราะมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วน เช่น

“คนที่โดนรถชนตายเมื่อวานนี้” เป็นกลุ่มคำเท่านั้น เพราะมีแต่ภาคประธานและส่วนขยายประธาน ไม่มีภาคแสดง

“เดินจนขาขวิดเซไปเซมาอยู่หน้าสถานีอนามัย” เป็นกลุ่มคำเช่นกัน เพราะมีแต่ภาคแสดง ไม่มีประธานของประโยค

อนึ่ง กลุ่มคำที่เรียงร้อยกันโดยไม่เป็นประโยค เราเรียกว่า “วลี”

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว