การพูดในโอกาสต่างๆ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-29 22:12:36
การสื่อสารความคิดของเราออกไปทำได้โดยการพูดและการเขียน สำหรับการเขียนนั้น เราสามารถใช้เวลาในการตรวจทานความถูกต้องได้จนกว่าจะเผยแพร่ออกไป แต่สำหรับการพูดนั้นแตกต่างกัน ผู้พูดอาจมีเวลาเตรียมตัวก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่เวลาที่ต้องพูดจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขความผิดพลาดได้ ดังนั้น ทักษะในการพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการพูดอภิปราย การพูดแสดงทรรศนะ การพูดโน้มน้าวใจ การกล่าวสุนทรพจน์ และการโต้วาที
การพูดอภิปราย
เป็นการพูดร่วมกันของบุคคลกลุ่มหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเพื่อพิจารณาปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แล้วหาข้อสรุปและแนวทางแก้ไขของปัญหานั้น
ความมุ่งหมายของการอภิปราย
1. ให้คนกลุ่มหนึ่งมาร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนทรรศนะอย่างมีเหตุผล คล้ายการระดมสมอง
2. เพื่อเสนอปัญหาหรือเรื่องราวบางอย่าง
3. เพื่อหาข้อยุติของปัญหาหรือเรื่องดังกล่าว
หน้าที่ของผู้อภิปราย
1. ต้องเตรียมตัวมาอย่างดี เข้าใจเนื้อเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี
2. ประชุมปรึกษาหารือกับคณะผู้อภิปราย แบ่งหัวข้อตามความถนัดของตน
3. รักษาเวลาในการพูดให้เคร่งครัดเสมอและตรงเวลาในการนัดหมาย
4. ใช้ภาษาพูดที่กะทัดรัด ชัดเจน
5. รักษามารยาทที่ดีในการพูด เช่น กิริยาท่าทาง สีหน้า และการควบคุมอารมณ์
6. ผู้อภิปรายควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูดบ้าง ไม่พูดมากเสียคนเดียว
7. เพิ่มเติมเนื้อเรื่องบางตอนหากเห็นว่าผู้อภิปรายยังพูดไม่สมบูรณ์
การพูดแสดงทรรศนะ
ทรรศนะ คือ ความคิดเห็นที่ประกอบด้วยเหตุผล โครงสร้างของการแสดงทรรศนะ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1. ที่มา คือ ส่วนที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแสดงทรรศนะ
2. ข้อสนับสนุน คือ ข้อเท็จจริง หลักการ รวมทั้งทรรศนะหรือมติของผู้อื่น ที่ผู้แสดงทรรศนะนำมาใส่ เพื่อสนับสนุนทรรศนะของตน
3. ข้อสรุป คือ สารสำคัญที่สุดของทรรศนะ อาจเป็นข้อเสนอแนะ ข้อวินิจฉัย หรือ การประเมินค่า
ภาษาที่ใช้ในการแสดงทรรศนะนั้น จะต้องใช้ถ้อยคำกะทัดรัด ใช้คำที่มีความหมายแจ่มชัด การเรียงลำดับความไม่สับสนวกวน และต้องใช้ภาษาให้ถูกต้อง
การพูดโน้มน้าวใจ
หลักการสำคัญของการพูดโน้มน้าวใจ คือ การใช้เหตุผลที่รัดกุมและน่าเชื่อถือเพื่อชี้ให้ผู้ฟังเห็นจริงด้วยตามที่เราพูด จนกระทั่งเปลี่ยนความเชื่อหรือเกิดความเห็นคล้อยตามผู้พูด
หลักการพูดโน้มน้าวใจ มีดังต่อไปนี้
1. กำหนดจุดมุ่งหมายที่ต้องการจากผู้ฟัง เพื่อเตรียมเนื้อหาและวิธีการที่เหมาะสม เช่น ต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจ ต้องการให้ผู้ฟังเห็นด้วยและปฏิบัติตาม หรือต้องการให้ผู้ฟังเปลี่ยนความเชื่อของตนเอง
2. เรียงลำดับเนื้อหาที่จะพูด ได้แก่ บทนำที่ดึงดูดใจ ให้ผู้ฟังสนใจ คิดหรือจินตนาการตาม
3. ใช้เหตุผลชี้ข้อดีและข้อเสีย โดยอ้างอิงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน
การกล่าวสุนทรพจน์
สุนทรพจน์ หมายถึง คำพูดที่ดีงาม ไพเราะจับใจ การกล่าวสุนทรพจน์มักอยู่ในพิธีการที่สำคัญ เช่น พิธีต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง พิธีรับตำแหน่งสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี หรือกล่าวในงานรำลึกถึงบุคคลสำคัญ วันสำคัญต่างๆ หรือเป็นการกล่าวในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงใจ เป็นคำพูดที่แสดงความปรารถนาดีในทางการเมือง การกล่าวสุนทรพจน์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง มักได้รับการยกย่องว่าเป็นการพูดชั้นยอด
ลักษณะของสุนทรพจน์
1. ใช้ถ้อยคำไพเราะลึกซึ้งกินใจ จับใจ
2. โน้มน้าวให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตามได้โดยง่าย
3. กระตุ้นผู้ฟังให้มีความมั่นใจและยินดีให้ความร่วมมือ
4. สร้างบรรยากาศให้เกิดความหรรษา และให้ความสุขแก่ผู้ฟัง
การโต้วาที
การโต้วาที คือการที่มีคนตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ใช้คำพูดที่คมคาย ชัดเจน โต้ตอบกันด้วยเหตุผล มีทั้งฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน และมีประธานเป็นผู้ดำเนินการโต้วาที โดยตั้งประเด็นที่จะต้องโต้เถียงกันแล้วแต่วาระ การโต้วาทีนี้จะมีเวลาให้แต่ละฝ่ายได้พูดเท่าๆ กัน ถ้าเกินเวลาก็ต้องหยุด เมื่อสิ้นสุดการโต้วาทีก็จะมีการตัดสินว่าฝ่ายไหนให้เหตุผลโต้แย้งได้ดีที่สุด ก็จะเป็นฝ่ายชนะไป
ลักษณะสำคัญของการโต้วาที
1. เป็นการเสนอเหตุผลหรือแนวความคิดของตนเอง
2. เป็นการหักล้างเหตุผลหรือแนวความคิดของฝ่ายตรงข้าม
3. เป็นการพูดที่ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบอย่างมาก
4. เป็นการพูดที่อาจออกท่าออกทางประกอบมาก
5. เป็นการพูดที่ต้องมีความพร้อมอย่างมาก เพราะต้องเตรียมคำพูดให้ขบขัน สุภาพ แหลมคมและกระชับ
จุดมุ่งหมายของการโต้วาที แบ่งออกได้เป็น 4 ประการ คือ
1. การโต้วาทีเพื่อหาข้อเท็จจริง เป็นการโต้แย้งด้วยหลักวิชาการ เพื่อค้นหาความจริงและความถูกต้องของสิ่งที่โต้วาที (การโต้วาทีเพื่อลัทธิความเชื่อ ไม่มุ่งข้อเท็จจริง มักเป็นไปอย่างรุนแรงและดุดัน)
2. การโต้วาทีเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม เช่น การโต้วาทีระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยในศาล เป็นต้น
3. การโต้วาทีเพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างมีแบบแผน เป็นการโต้วาทีที่ต้องดำเนินตามระเบียบการโต้วาทีอย่างเคร่งครัด
องค์ประกอบของการโต้วาที
1. ญัตติ คือ หัวเรื่องที่ใช้ในการโต้วาที
2. ประธาน คือ ผู้ดำเนินการโต้วาที ประธานควรระวังในเรื่องต่อไปนี้
- ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เผลอกล่าวสนับสนุนผู้โต้วาทีคนใดคนหนึ่งเป็นอันขาด
- ต้องพูดให้น้อยที่สุด เพราะผู้ฟังเน้นมาฟังผู้โต้วาทีมากกว่า
- ต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องกำหนดการ ข้อมูลเกี่ยวกับญัตติ การรักษาเวลา
3. กรรมการ คือ กลุ่มคนที่ทำหน้าที่ตัดสินผลแพ้ชนะ โดยปกติมักกำหนดให้มีจำนวนเลขคี่เพื่อให้ปรากฏผลแพ้ชนะ (เลขคู่อาจทำให้คะแนนเสมอกัน) โดยกรรมการจะตัดสินคะแนนจากหัวข้อต่างๆ ดังนี้
- ความตรงประเด็นในการโต้วาที
- การใช้เหตุผลที่รัดกุม
- ความสามารถในการหักล้างเหตุผลของฝ่ายตรงข้าม
- วาทศิลป์ ความคมคายของภาษาหรือถ้อยคำ รวมถึงมุกตลกที่สอดแทรกได้อย่างลงตัว ทำให้ผู้ฟังขบขัน ซึ่งแสดงถึงปฏิภาณไหวพริบของผู้โต้วาที
- มารยาท คือ ความสุภาพและการรักษาเวลา
- บุคคลิก เช่น น้ำเสียงแสดงความมั่นใจ มีความฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ ตลอดจนการวางท่าทางที่ดีในขณะพูด
4. ผู้โต้วาที ในการโต้วาทีจะแบ่งผู้โต้วาทีเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน ไม่จำกัดจำนวนว่าผู้โต้วาทีจะมีกี่คน แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีจำนวนเท่ากันและมีหัวหน้าฝ่ายฝ่ายละ 1 คน
5. ผู้ฟัง ผู้ฟังควรรู้จักพิจารณาถ้อยคำที่โต้ตอบกัน ครั้งใดที่รู้สึกว่าผู้โต้วาทีกล่าวได้ดี ลึกซึ้ง คมคาย หรือเกิดความประทับใจควรปรบมือให้
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว