www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > มัธยมปลาย

การบันทึกความรู้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-29 21:52:59

การค้นคว้าหาความรู้จากการอ่านช่วยให้เราพัฒนามากขึ้น ยิ่งอ่านงานเขียนที่หลากหลายก็ยิ่งมีความรู้หลากหลายสาขา แต่การอ่านเพียงอย่างเดียวอาจเกิดการหลงลืมเนื้อหาสาระบางอย่างไปได้ การเขียนบันทึกความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการค้นคว้าวิจัย

ภาพ : shutterstock.com

การบันทึกความรู้นั้น ใช้รูปแบบการเขียนบันทึกทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ผู้บันทึกสามารถจดบันทึกความรู้จากแหล่งข้อมูลหลากหลาย เช่น จากการอ่านหนังสือ จากประสบการณ์ส่วนตัว เป็นต้น

 

การเขียนบันทึกความรู้จากการอ่าน

ส่วนมากจะเป็นการบันทึกข้อมูลเพื่องานเขียน อาจเป็นงานเขียนทางวิชาการ หรือการเขียนรายงาน การบันทึกต้องทำด้วยความประณีต อ่านง่าย ถูกต้อง สมบูรณ์ มีระเบียบในการบันทึกโดยสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญที่ต้องมีในบันทึกคือ หัวข้อหรือหัวเรื่องที่บันทึกแหล่งที่มาของความรู้และข้อความที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า

 

การเขียนบันทึกความรู้จากประสบการณ์ (บันทึกส่วนตัว)

เป็นการบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่ได้ประสบมา เพื่อช่วยจำและใช้เป็นหลักฐานสำคัญ และเป็นการฝึกฝนการเขียนของผู้บันทึกเอง การเขียนบันทึกส่วนตัวยังช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความตรึงเครียด และสร้างอารมณ์สุนทรีย์แก่ผู้เขียนได้อย่างดียิ่ง

 

การเขียนบันทึกส่วนตัว มีวิธีการดังนี้

1. เขียน วัน เดือน ปี ที่บันทึก
2. ไม่จำเป็นต้องบันทึกทุกวัน ควรบันทึกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ผู้บันทึกได้พบ เวลาและสถานที่เกิดเหตุการณ์ รายละเอียดของเหตุการณ์และความคิดเห็น
3. ควรบันทึกเหตุการณ์ที่ประทับใจ ทั้งในด้านดีและไม่ดี พยายามเขียนความรู้สึกตามที่ตนต้องการ
4. ไม่ควรบันทึกกิจกรรมประจำวันที่ซ้ำซาก เช่น ตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน กิจวัตรเหล่านี้ไม่น่าสนใจ ไม่มีอะไรน่าจดจำ เว้นแต่จะมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นในขณะทำกิจกรรมเหล่านั้น
5. ควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจดบันทึก โดยช่วงก่อนนอนเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเขียนบันทึกที่สุด เพราะเป็นเวลาว่างและเราสามารถสรุปเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้แล้ว

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว