www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภาษาไทย > มัธยมปลาย

การอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-11 20:58:39

การอ่านออกเสียงเป็นทักษะที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก การอ่านในใจเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้นั้น ไม่ต้องฝึกการแบ่งจังหวะจะโคนเหมือนการอ่านออกเสียง เพราะการอ่านออกเสียง เว้นแต่การอ่านคนเดียวเพื่อท่องจำแล้ว ล้วนมีจุดประสงค์คือเพื่อให้ผู้อื่นฟัง ดังนั้น ผู้อ่านต้องมีทักษะการอ่านออกเสียงที่ดี ทั้งการอ่านบทร้อยแก้ว ที่ต้องแบ่งจังหวะวรรคตอนและใช้น้ำเสียงให้เหมาะสม และการอ่านบทร้อยกรอง ที่ต้องใช้ลีลาการเอื้อน การทอดเสียง การเน้นเสียงสูงเสียงต่ำเป็นทำนองเสนาะ จึงจะอ่านบทกวีหรือบทประพันธ์ให้ผู้ฟังรู้เรื่องและเกิดความประทับใจ

ภาพ : shutterstock.com

การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว

คือ การอ่านบทประพันธ์ร้อยแก้วแบบออกเสียง โดยแบ่งวรรคตอนให้เหมาะสม ใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวที่ได้ฟัง

 

หลักเกณฑ์การอ่านบทร้อยแก้ว

1. อ่านเพื่อเตรียมตัวก่อนการอ่านจริง เพื่อให้เข้าใจเนื้อหา ทำการแบ่งวรรคตอนไว้ก่อน
2. อ่านให้คล่องแคล่ว ไม่ติดขัด ถูกต้องตามอักขระวิธี ตัว ร ล ควบกล้ำ ต้องถูกต้อง ชัดเจน เสียงดังฟังชัด แต่ไม่ถึงกับตะโกน
3. ใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องราวที่อ่าน เช่นเนื้อหาเป็นเรื่องเศร้าโศกก็ต้องใช้เสียงที่ฟังดูอ่อนโยน เศร้าสร้อยตามเนื้อหา ถ้าเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องสนุกสนานก็ใช้น้ำเสียงสดใสมีชีวิตชีวา ฟังดูน่าตื่นเต้น เป็นต้น
4. เหลือบตามองดูผู้ฟังบ้าง ไม่ก้มหน้าอ่านอย่างเดียว
5. ระวังท่าทางในการยืนหรือการนั่ง บุคลิกภาพต้องดี ดูสุภาพ สำรวม

 

การอ่านออกเสียงร้อยกรอง (ทำนองเสนาะ)

การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง คือ การอ่านบทกวีแบบออกเสียงตามจังหวะและลีลาของบทร้อยกรองแต่ละประเภท สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. การอ่านออกเสียงตามปกติ เพียงแต่แบ่งจังหวะตามวรรคตอนของบทประพันธ์เท่านั้น
2. การอ่านแบบทำนองเสนาะ ซึ่งมีการใช้เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงสั้น และการเอื้อน ซึ่งจะบังเกิดความไพเราะคล้ายเสียงดนตรี

 

หลักในการอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง

1. อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์ ศึกษาการแบ่งวรรคตอน จำนวนคำ เสียงวรรณยุกต์ เสียงหนักเบา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคำประพันธ์แต่ละประเภท
2. อ่านให้มีลีลา รู้จักใช้เสียงเอื้อนและรู้จักทอดจังหวะให้เกิดความไพเราะ

 

การอ่านคำประพันธ์ประเภทโคลง

โคลงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือโคลงสี่สุภาพ ซึ่งมีวิธีการอ่านดังนี้

1. อ่านทอดเสียงให้ตรงตามจังหวะของแต่ละวรรค วรรคหน้าของแต่ละบาทมี 2 จังหวะ จังหวะละ 2 คำ และ 3 คำ
2. คำท้ายวรรคที่ใช้เสียงจัตวา ต้องเอื้อนเสียงให้สูงเป็นพิเศษ
3. เอื้อนวรรคหลังของบาทที่ 2 ให้เสียงต่ำกว่าปกติ
4. ในกรณีที่มีคำมากพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้นๆ ให้สั้นเข้า

 

ตัวอย่างคำประพันธ์ประเภทโคลง

“เสียงลือ / เสียงเล่าอ้าง     อันใด พี่เอย

เสียงย่อม / ยอยศใคร     ทั่วหล้า

สองเขือ / พี่หลับใหล     ลืมตื่น ฤๅพี่

สองพี่ / คิดเองอ้า     อย่าได้ / ถามเผือ”

(จาก “ลิลิตพระลอ”)

 

การอ่านคำประพันธ์ประเภทฉันท์

ฉันท์เป็นร้อยกรองของไทยรูปแบบหนึ่ง โดยถ่ายแบบมาจากอินเดีย คำประพันธ์ประเภทฉันท์มีความแตกต่างจากโคลงและกลอนตรงที่มีการบังคับ “คำครุ” และ “คำลหุ” ด้วย

คำครุ คือ คำหนัก หมายถึง คำที่ออกเสียงหนัก ได้แก่

1. คำที่มีตัวสะกดทุกคำ เช่น นก บิน จาก รัง นอน
2. คำที่ประสมด้วยสระ อำ ใอ ไอ เอา ซึ่งถือว่าเป็นเสียงมีตัวสะกด เช่น ทำ ใจ ไป เมา
3. คำในแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) ที่ประสมด้วยสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ทุกคำ เช่น กา ตี งู

คำลหุ คือ คำเบา หมายถึง คำที่ออกเสียงเบา ได้แก่

1. คำในแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น (รัสสระ) ทุกคำ เช่น กะ ติ อึ ดุ เตะ แกะ เพราะ เลอะ โละ ก็ (เดิมสะกดว่า “เก้าะ”)
2. คำที่ประกอบด้วยพยัญชนะเพียงอักขระเดียว เช่น บ่ ณ ธ

 

ตัวอย่างคำประพันธ์ประเภทฉันท์ เช่น อินทรวิเชียรฉันท์

อินทรวิเชียรฉันท์ 1 บท มี 2 บาท ในแต่ละบาท มี 2 วรรค ได้แก่ วรรคหน้าหรือวรรคต้น มี 5 คำ (พยางค์) ส่วนวรรคหลังหรือวรรคท้าย มี 6 คำ (พยางค์) ดังนั้น อินทรวิเชียรฉันท์ 1 บาท จึงมีจำนวนคำ (พยางค์) 11 คำ (พยางค์) จึงกำหนดเลข 11 ไว้ท้ายชื่อฉันท์

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์

“สายัณห์ตะวันยาม    ขณะข้ามทิฆัมพร

เข้าภาคนภาตอน     ทิศะตกก็รำไร

รอนรอนและอ่อนแสง     นภะแดงสิแปลงไป

เป็นครามอร่ามใส     สุภะสดพิสุทธ์สี

เรื่อเรื่อ ณ เมื่อรัต-     ติจะผลัดก็พลันมี

มืดมามิช้าที     ศศิธรจะจรแทน”

(จาก “ณ หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง” ของ ชิต บุรทัต)

 

การอ่านคำประพันธ์ประเภทกาพย์

กาพย์ที่นิยมใช้ในการฝึกประพันธ์ และฝึกอ่านทำนองเสนาะโดยทั่วไป คือ กาพย์ยานี 11 ซึ่งมีจังหวะการอ่านวรรคละ 2 จังหวะ คือ วรรคหน้า 5 คำ แบ่งอ่านเป็น 2 คำ และ 3 คำ ส่วนวรรคหลัง 6 คำ แบ่งอ่านเป็น 3 คำ และ 3 คำ ตัวอย่างเช่น

“เรื่อยเรื่อย / มารอนรอน     ทิพากร / จะตกต่ำ

สนธยา / จะใกล้ค่ำ     คำนึงหน้า / เจ้าตาตรู

เรื่อยเรื่อย / มาเรียงเรียง     นกบินเฉียง / ไปทั้งหมู่

ตัวเดียว / มาพลัดคู่     เหมือนพี่อยู่ / ผู้เดียวดาย”

(จาก “กาพย์เห่เรือ” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)

 

การอ่านคำประพันธ์ประเภทกลอน

กลอนสุภาพให้อ่านบาทแรก (วรรคสดับและวรรครับ) ด้วยเสียงสูง บาทถัดไป (วรรครองและวรรคส่ง) ด้วยเสียงต่ำ สลับกันไปเช่นนี้

ในแต่ละวรรค ให้แบ่งจังหวะตามจำนวนคำในวรรคนั้นๆ เช่น

วรรคที่มี 6 คำ อ่าน 2/2/2
วรรคที่มี 7 คำ อ่าน 2/2/3 หรือ 3/2/2 หรือ 2/3/2 แล้วแต่ความเหมาะสม
วรรคที่มี 8 คำ อ่าน 3/2/3
วรรคที่มี 9 คำ อ่าน 3/3/3

ทั้งนี้ การแบ่งคำในแต่ละวรรคอาจต้องดูความเหมาะสมของคำสัมผัสเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามรูปแบบปรกติก็ได้

 

ตัวอย่างการแบ่งจังหวะกลอนที่มีวรรคละ 6 คำ

“ไผ่ซอ อ้อเอียด เบียดออด     ลมลอด ไล่เลี้ยว เรียวไผ่

ออดแอด แอดออด ยอดไกว     แพใบ ไล้น้ำ ลำคลอง”

(จากหนังสือ “คำหยาด” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

 

ตัวอย่างการแบ่งจังหวะคำกลอนที่มีวรรคละ 7 คำ (ตัวเอียง)

“ถึงไม่เลี้ยง บุษบา เห็นว่าชั่ว     แต่เขารู้ อยู่ว่าตัว นั้นเป็นพี่

อันองค์ / ดาหา / ธิบดี     นั้นมิ / ใช่อา / หรือว่าไร

มาตรแม้น เสียเมือง ดาหา     จะพลอยอาย ขายหน้า หรือหาไม่

ซึ่งเกิดศึก / สาเหตุ / เภทภัย     ก็เพราะใคร ทำความ ไว้งามพักตร์”

(จาก “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2)

 

การอ่านคำประพันธ์ประเภทร่าย

ร่าย เป็นชื่อของคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่กำหนดว่าจะต้องมีกี่บทหรือกี่บาท จะแต่งให้ยาวเท่าไรก็ได้ เป็นแต่ต้องเรียงคำให้คล้องจองกันตามข้อบังคับเท่านั้น ลักษณะบังคับต่างๆ ใช้อย่างเดียวกับ “โคลง 2” และ “โคลง 3”

 

ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ

“ศรีสวัสดิเดชะ ชนะราชอรินทร์ ยินพระยศเกริกเกรียง เพียงพกแผ่นฟากฟ้า หล้าล่มเลื่องชัยเชวง เกรงพระเกียรติระย่อ ฝ่อใจห้าวบมิหาญ ลาญใจแกล้วบมิกล้า บค้าอาตม์ออกรงค์ บคงอาตม์ออกฤทธิ์ ท้าวทั่วทิศทั่วเทศ ไท้ทุกเขตทุกด้าว น้าวมกุฎมานบ น้อมพิภพมานอบ มอบบัวบาทวิบุล อดุลยานุภาพ ปราบดัสกรแกลนกลัว หัวหั่นหายกายกลาด ดาษเต็มท่งเต็มดอน พม่ามอญพ่ายหนี ศรีอโยธยารมเยศ พิเศษสุขบำเทิง สำเริงราชสถาน สำราญราชสถิต พิพิธโภคสมบัติ พิพัฒน์โภคสมบูรณ์ พูนพิภพดับเข็ญ เย็นพิภพดับทุกข์ สนุกสบสีมา ส่ำเสนานอบเกล้า ส่ำสนมเฝ้าฝ่ายใน ส่ำพลไกรเกริกหาญ ส่ำพลสารสินธพ สบศาสตราศรเพลิง เถลิงพระเกียรติฟุ้งฟ้า ลือตรลบแหล่งหล้า โลกล้วนสดุดี”

(จาก “ลิลิตตะเลงพ่าย” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว