การเขียนย่อความ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2020-06-10 21:26:22
การเขียนย่อความ เป็นการนำเนื้อหาส่วนที่สำคัญของเรื่องที่อ่าน อาจเป็นวรรณคดี หรือบทความในสื่อต่างๆ มาเขียนสรุป จึงต้องมีใจความสำคัญครบถ้วน และเขียนย่อใหม่ด้วยสำนวนของเราเอง
หลักการเขียนย่อความ
1. ทำความเข้าใจเจตนาผู้เขียน ว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารประเด็นอะไร ซึ่งต้องใช้เวลาพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้ายังไม่รู้เจตนา ก็ต้องนั่งอ่านซ้ำๆ เพื่อทำความเข้าใจ
2. เก็บรายละเอียด จับเอาส่วนประเด็นสำคัญๆ มาเขียนใส่กระดาษไว้ แล้วค่อยๆ นำมาเรียบเรียง ร้อยเรียงใหม่ ตามความเข้าใจของเรา ด้วยสำนวนเขียนของเราเอง อย่ายกข้อความทั้งส่วนเอามาต่อๆ กัน ซึ่งไม่ใช่หลักในการเขียนย่อความ
3. ระวังเรื่องสรรพนาม เมื่อเรานำความเรียงมาเขียนใหม่ ต้องเปลี่ยนสรรพนามให้ถูกต้อง เช่น จากสรรพนามบุรุษที่ 1 เมื่อนำมาเล่าใหม่ ควรเปลี่ยนเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นต้น
4. การใช้คำราชาศัพท์ เนื่อหาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ ต้องคงคำราชาศัพท์ไว้ จะเปลี่ยนเป็นคำสามัญไม่ได้เด็ดขาด แม้จะย่อความเป็นสำนวนของเรา ก็ต้องใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้องด้วย
5. การอ้างอิง ต้องบอกที่มาของย่อความเสมอ ว่ามาจากไหน หนังสือเล่มใด เว็บไซต์อะไร ใครเป็นผู้แต่ง เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้เขียนต้นเรื่อง
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว